วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

'กวี-เผดิมภพ' 'บัฟเฟตต์' สไตล์ กับ 'จอร์จ โซรอส' สไตล์



แม้ต่างแนวทาง..ต่างความคิด แต่เป้าหมายเดียวกันคือ 'สร้างความมั่งคั่ง' สองนักวิเคราะห์ดัง 'กวี ชูกิจเกษม' ควง 'เผดิมภพ สงเคราะห์' เปลือยสไตล์การลงทุนส่วนตัวอย่างหมดเปลือก..คนหนึ่ง 'วีไอ' จ๋า! อีกคน 'โมเมนตัม อินเวสเตอร์'
แนะนำการเล่นหุ้นให้คนอื่นมานับไม่ถ้วน กวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย และ เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทย เจ้าตัวแทบไม่เคยเผยสไตล์การลงทุนส่วนตัวให้ใครรู้ คนหนึ่งมีไอดอลคือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ส่วนอีกคนยึด จอร์จ โซรอส เป็นแนวทางสร้างความร่ำรวย
ทั้งสองคนได้ชื่อว่าเป็นนักวิเคราะห์ดังระดับ "แม่เหล็ก" มีแฟนคลับติดตามคำแนะนำจำนวนมาก เบื้องหลังของ กวี และเผดิมภพ ต่างก็เป็นนักลงทุนคนหนึ่งในตลาดหุ้นที่มีสไตล์การลงทุนเป็นตัวของตัวเอง คนหนึ่ง "บู้" อีกคน "บุ๋น" น้อยคนนักที่จะรู้ตัวตนและเป้าหมายที่แท้จริงของเขาทั้งสอง
ผมตั้งใจว่าเมื่ออายุ 80-90 ปี จะต้องมีเงิน "แสนล้านบาท" ถ้าอยู่ไม่ถึงทายาทก็ต้องทำต่อให้ถึง!!กวี ชูกิจเกษม หรือที่เพื่อนๆ เรียกชื่อเล่นว่า วีเล่าเป้าหมายส่วนตัวให้ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟัง ณ ห้องค้าหุ้น บล.กสิกรไทย สำนักพหลโยธิน

"วี" นักวิเคราะห์ชื่อดัง เล่าว่า ตัวเองเป็น "แวลู อินเวสเตอร์" (วีไอ) มี วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นต้นแบบ ส่วนตัวชอบฟังเพลงป๊อปสบายๆ ใช้ชีวิตที่สมถะเรียบง่าย เพียงแต่การทำงานในสายงานนักกลยุทธ์ที่ บล.กสิกรไทย ทำให้ต้องติดตามข่าวสารตลอดเวลา

ส่วนตัวผมชอบลงทุนระยะยาว หุ้นบางตัวถือมา 5 ปี ไม่เคยขาย บางตัว 15 ปีแล้วก็ยังอยู่! พื้นฐานหุ้นเปลี่ยนถึงจะขายกวี เล่า

หลักการลงทุนของกวี เขาจะเลือกหุ้นดีๆ ไว้ในลิสต์ประมาณ 50 บริษัท แต่ไม่ลงทุนทั้งหมด จากนั้นมาคัดว่าตัวไหนราคาเหมาะสม "จังหวะยังไม่ถึง..ก็ไม่ซื้อ" ต่อให้เป็นหุ้นพื้นฐานดีแต่ราคาเกินพื้นฐานจะไม่มีวันลงทุนเด็ดขาด ทุกครั้งที่ลงทุนจะ "ทำใจ" ว่าจะ "ลงทุนระยะยาว" ซื้อหุ้น 3 ปีไม่ขึ้นเลยก็เป็นไปได้!!

"นี่คือ ค่าเสียโอกาสที่คุณต้น (เผดิมภพ สงเคราะห์) ไม่ยอมเสีย ไม่ใช่เพราะผมขี้ขลาดไม่กล้าขายแต่ถ้ายังเชื่อมั่นว่าบริษัทยังดีอยู่แล้วจะขายทำไม! บริษัทที่ดีพื้นฐานก็จะดีต่อเนื่องทุกปีอยู่แล้วด้วย ถ้าหุ้นดีแต่อันเดอร์แวลูมากๆ พอมันขึ้นมันจะขึ้นเร็วมากๆ บางตัวขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์แถมระหว่างทางได้เงินปันผลด้วย"

กวีบอกว่า หุ้นนี่มันแปลกอย่างหนึ่ง...สามปีไม่ยอมขึ้นแต่พอจะขึ้นมันขึ้นได้ที 400-500% แต่ขึ้นแล้วจะยังไม่ขายเพราเชื่อว่าจะขึ้นได้อีกถ้าเป็นบริษัทที่ดี แต่ถ้าหุ้นในพอร์ตขึ้นมาเยอะแล้วและมีหุ้นตัวอื่นที่โอกาสกำลังจะมา สิ่งที่จะทำคือ "ขายหุ้นที่แพงที่สุดในพอร์ต" ออกไป

ในพอร์ตของผมจะมีหุ้นอยู่ 15 ตัว ผมไม่ต้องการให้ขึ้นทุกตัวทุกปี ต้องการแค่แจ็คพ็อตปีละ 2-3 ตัวขึ้นมากกว่า 100% ก็พอ พอร์ตของผมสามารถสร้างผลตอบแทนได้เฉลี่ยปีละ 26% ในรอบหลายปีหลังมานี้ เฉพาะกำไรส่วนต่างราคาหุ้นอย่างเดียวไม่รวมเงินปันผล ถ้ามันทบไปเรื่อยๆ จะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ถึง 1,000% ภายในสิบปีเลยทีเดียว
ด้าน "ต้น" เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทย แม้ต่างแนวทางและต่างความคิด แต่เป้าหมายเดียวกันคือ
"สร้างความมั่งคั่ง" ในตลาดหุ้น กวีชอบฟังเพลงป๊อปสบายๆ ลงทุนสไตล์ "วีไอ" แต่เผดิมภพ ชอบฟังเพลงร็อคหนักๆ ลงทุนสไตล์ "จอร์จ โซรอส" แต่ทั้งสองคนไม่เคยเถียงกันว่าสไตล์การลงทุนของใครดีกว่ากัน เพราะถ้าทำกำไรได้สไตล์ไหนก็ดีทั้งนั้น
"ต้น" นักวิเคราะห์รุ่นลายครามเล่าต่อจากกวีว่า สไตล์การลงทุนส่วนตัวคือโมเมนตัม อินเวสเตอร์หรือจับจังหวะลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และระยะเวลา แน่นอนว่านักลงทุนที่เป็นไอดอลคือ จอร์จ โซรอส ผู้ที่ได้ชื่อว่าหาโอกาสทำกำไรจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้เก่งที่สุดในโลก

ถ้าเป็นในประเทศ ผมยกให้สองนายเก่าเป็นไอดอล คือ คุณกรณ์ จาติกวณิช และ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ทั้งสองคนนี้มีแนวคิดการเป็นนักลงทุนที่มองหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นตอนที่คุณกรณ์ขายกิจการ บล.เจเอฟ ธนาคม ก็ขายตอนที่ธุรกิจกำลังดีที่สุด

เผดิมภพ สร้างความเข้าใจก่อนว่าตัวเขาไม่ใช่นักลงทุนระยะสั้นประเภท เก็งกำไรสไตล์ โมเมนตัม อินเวสเตอร์ไม่ใช่นักเก็งกำไร แต่ใช้คำว่า "หาโอกาสในวิกฤติจะดีกว่า ความหมายมันต่างกันมาก เช่นการเข้าไปซื้อสินทรัพย์ราคาถูกในยุโรปตอนนี้หรือเข้าไปตอนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ส่วนตัวคิดว่าการเก็งกำไรแบบเดย์เทรดทุกวัน "ไม่มีทางสำเร็จ (รวย) ได้" ยกเว้นพวกที่มีพอร์ตใหญ่สามารถควบคุมราคาหุ้นได้ถึงจะรวย ถ้าเป็นรายย่อยเล่นหุ้นแบบเดย์เทรดซื้อขายทุกวันโอกาส "เสีย" (ขาดทุน) มีสูงมาก

แนวคิดการลงทุนแบบโมเมนตัม อินเวสเตอร์ จะเริ่มจากต้องมอง "ภาพใหญ่ให้ขาด" และมองไปข้างหน้าว่าคนส่วนใหญ่ "คิดอะไรอยู่" แล้วเรา "เทคแอคชั่น" ก่อน เช่นคิดว่าเงินยูโรมันจะดีขึ้นก็ต้องไปซื้อไว้ก่อน ไม่ใช่เพิ่งมาซื้อตอนข่าวออกแล้ว อีกอย่างพอเข้าสนามรบแล้วต้องมีสมาธิ "ห้ามโลภ" เกินไปและต้องไม่กลัวตอนมันแย่ อย่างตลาดหุ้นตอนนี้ "ต้องขาย" เพราะข่าวดีออกหมดแล้ว..ไม่ใช่เตรียมตัวจะ "ซื้อ

เผดิมภพ บอกว่า แม้แนวทางการลงทุนของเราจะต่างกัน แต่เราทั้งสองคนยอมรับซึ่งกันและกัน สิ่งที่เราต้องการจะบอกนักลงทุนก็คือ แต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีแนวทางความสำเร็จเหมือนกัน แต่คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าแบบไหนเป็นแนวทางของตัวเอง ที่สำคัญต้อง "อย่าตามกระแส" ต้องหาสไตล์ของตัวเองให้เจอ

คนส่วนใหญ่จะตั้งโจทย์โดยใช้ผลตอบแทนเป็น "เป้า" และปรับเปลี่ยนแนวทางตามกระแส แนะนำว่าคนที่มีเงินน้อยๆ ให้ลงทุนแบบ "กวี" (วีไอ) ดีกว่า! เผดิมภพ บอกด้วยว่า สไตล์การลงทุนของเขาจะซื้อขายหุ้นบ่อยกว่า แต่ก็มีความสุขกับการเห็นหุ้นขึ้นทุกวัน และสุดท้ายแล้วผลตอบแทนก็ออกมาพอๆ กัน

สไตล์การลงทุนของผมจะเหมาะกับผู้ที่มีเวลาติดตามตลาดหุ้น ไม่เหมาะกับคนที่ซื้อแล้วถือยาว ถ้าคนที่เน้นพื้นฐานอย่างเดียวจะไม่ต้องการเวลาติดตามมากก็ได้ วิธีการแบบนี้ถ้ามีผู้แนะนำการลงทุนที่ดีมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สูง แต่ห้ามพลาด ห้ามเผลอ เพราะสไตล์นี้ไม่ได้ซื้อหุ้นที่ราคา "ดิสเคาท์" แต่ยอมจ่าย "พรีเมี่ยม" ดังนั้นโอกาสขาดทุนจึงมีเผดิมภพ กล่าว

ผมไม่อยากให้นักลงทุนปรับเปลี่ยนนิสัยเพราะเห็นว่าคุณต้นรวย ปรับเปลี่ยนเพราะเห็นว่ากวีมีตังค์ แต่คุณต้องกลับมาดูตัวเอง แล้วหาสไตล์ของตัวเอง อย่าไปตามคนอื่น แนวทางที่คนอื่นเขาใช้จนรวยอาจไม่ใช่แบบของเราก็ได้ อย่าไปเปลี่ยนนิสัยตามตลาดหุ้น เชื่อว่าถ้าสามารถค้นพบตัวเองรับรองรวยได้แน่นอนกวี กล่าวเสริม

กวี กล่าวต่อว่า นักลงทุนจะเจอสไตล์การลงทุนของตัวเองได้อย่างไร? จริงๆทุกคนก็รู้อยู่กับตัวอยู่แล้ว ถ้าเราคิดจะลงทุนระยะยาวผ่านไปอาทิตย์เดียวโทรถามนักวิเคราะห์ว่าทำไม! หุ้นไม่ขึ้น แปลว่าคุณไม่ใช่นักลงทุนระยะยาวแล้ว
"ถ้านักลงทุนความรู้ไม่มากพอก็ไม่ควรลงทุนแบบคุณต้น (เผดิมภพ) ที่สำคัญต้องมีเวลาให้อย่างเต็มที่ ถ้าใครมีเวลาน้อยน่าจะเลือกวิธีการลงทุนแบบผมดีกว่ากวี กล่าวทิ้งท้าย ขณะที่ เผดิมภพ เสริมว่า ส่วนตัวถ้าเล่นหุ้นแบบกวีอาจจะขาดทุนก็ได้เพราะไม่ถนัด ถือรอนานๆไม่ไหว สรุปก็คือ นักลงทุนจะต้องหาสไตล์การลงทุนที่เป็นตัวของตัวเองให้เจอ คุณถึงจะรวย!!!
------------------------------------
'วีไอ' แบบกวี 'โมเมนตัม' สไตล์เผดิมภพ (ไซด์บาร์)
--------------------------------------
กวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวถึงหลักการลงทุนสไตล์ "วีไอ" ของตัวเองว่า เวลามีเพื่อนมาถาม..ตอนนี้ทำ(อาชีพ)อะไรอยู่! ก็จะตอบว่าตอนนี้เป็นเจ้าของโรงพยาบาล 3-4 แห่ง เป็นเจ้าของร้านค้าปลีก, ร้านหนังสือ, ร้านอาหาร, โรงแรม ฯลฯ คิดแบบนี้ไม่ต้องไปติดตามภาวะเศรษฐกิจอะไรมาก แต่ถ้าเกิดวิกฤติก็จะเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นถูกๆ


"ผมมีความคิดว่าตลาดหุ้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ เพราะเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ ส่วนตัวยอมเสียโอกาสเพื่อลงทุนในบริษัทดีๆ ระยะยาว เพื่อรอไปทำกำไร(มากๆ)ในอนาคต"

คุณสมบัติของหุ้นที่กวีจะลงทุน หนึ่ง..มีความทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน และพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่เปลี่ยนมากนัก เช่น เมื่อป่วยต้องไปโรงพยาบาล หิวต้องหาของกิน ไปเที่ยวต้องนอนโรงแรม ฯลฯ

สอง..หุ้นตัวนั้นต้องมีอัตราการเติบโตในระยะยาวด้วย ยิ่งมี แฟรนไชส์แข็งแกร่ง" จะสามารถขยายกิจการได้รวดเร็ว และนำไปสู่แบรนด์ที่แข็งแกร่งด้วย หุ้นพวกนี้จะมีโอกาสในการแตกไลน์ธุรกิจในอนาคต อย่างพอร์ตส่วนตัวจะไม่ลงทุนหุ้นพลังงาน เพราะพวกนี้จะมาตามวัฏจักรเหมือนกับปิโตรเคมี โรงกลั่น ธนาคาร พวกนี้จะไม่มีในพอร์ต
"อย่างที่บอกหุ้นในพอร์ต 15 ตัว ปีแรกอาจจะขึ้น 1-2 ตัว ปีที่สองอีก 2 ตัว ปีที่สามอีก 2 ตัว เป้าหมายของผมที่ต้องการมีพอร์ต "แสนล้านบาท" ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ถ้าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 26% ต่อปี เราต้องตั้งเป้าหมายสูงไว้ก่อน เงินนี่มันแปลกจะขึ้นเร็วมากเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ ช่วงสิบปีแรกมันจะช้ามาก สิบปีต่อมาจะวิ่งเร็วขึ้น"

กวีบอกว่า ถึงจะมี วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นไอดอล แต่ไม่ได้เดินตามบัฟเฟตต์ ทุกอย่าง ความสำเร็จมันลอกกันไม่ได้ ของใครของมัน ที่ต้องการจะบอกก็คือ ถึงแนวทางลงทุนจะต่างจากคุณต้น (เผดิมภพ) เราก็ไม่เคยเถียงกัน เพราะสุดท้ายก็เป็นเศรษฐีได้เหมือนกัน

ด้าน เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทย กล่าวถึงหลักการลงทุนสไตล์ "โมเมนตัม อินเวสเตอร์" ของตัวเองว่า วิธีการตัดสินใจลงทุนจะดูทั้ง Top Down และ Bottom Up แนวคิดจะต่างจากของกวีที่มุ่งลงทุนหุ้นที่มูลค่าต่ำ ส่วนตัวจะดูที่ "สภาวะตลาด" ถ้ากำลัง "ดี" แม้ราคาหุ้นจะไม่ต่ำมากก็ "กล้าลงทุน" ทางกลับกันถ้า "หุ้นถูก" แต่สภาวะตลาดไม่อำนวยก็ยัง "ไม่ลงทุน" สรุปคือ นำสถานการณ์มาวิเคราะห์และดูอารมณ์ของตลาดว่าน่าลงทุนหรือไม่ ถ้าน่าลงทุนก็ยอม "จ่ายแพง" ได้ เพื่อไปขายที่ "แพงกว่า"

หลังจาก "หาหุ้น" และหา "ธีม" ที่ตลาดจะเล่นได้แล้ว จะใช้ เทคนิคมาประกอบด้วย ไม่เอาพื้นฐานอย่างเดียว ต่อให้แพงแล้วแต่เทคนิคสวยก็ยอม แต่ถ้าถูกแต่เทคนิคไม่ดีก็ไม่เอา สรุปคือ หลังจากดูภาพใหญแล้วว่าตลาดหุ้นน่าลงทุน ก็จะเลือกหุ้นโดยใช้เทคนิคประกอบ ทางกลับกันถ้าเทคนิคดีแต่สภาวะตลาดไม่ดี ต่อให้หุ้นดีก็ "ขาย"

หุ้นที่ผมแนะนำภายในหนึ่งสัปดาห์ราคาจะต้องขยับแล้ว ไม่ต้องการจะรอยาว ผมไม่ต้องการราคาดิสเคาท์และยอมจ่ายพรีเมี่ยมแต่ต้องมั่นใจว่าหุ้นตัวนั้นต้องขึ้น

เผดิมภพ บอกว่าการลงทุนจะดูที่ ค่าเสียโอกาสด้วย มองว่าถ้าต้องถือหุ้นยาวมากๆ มันคือค่าเสียโอกาสที่ต้องเสียไป ส่วนตัวจึงไม่ซื้อหุ้นแล้วถือยาวๆ ถ้าตลาดหุ้นไม่น่าลงทุนก็จะนำเงินไปฝากไว้กับสินทรัพย์อื่นแทน เช่น ลงทุนในตราสารหนี้

"ถ้าเลือกลงทุนสไตล์อย่างผม จะต้องมีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ เพราะตลาดหุ้นคือตัวชี้นำเศรษฐกิจ แต่ยังไม่พอต้องคาดการณ์อนาคตได้ด้วยเพื่อประเมินว่าหุ้นอะไรกำลังจะดีก็ "ซื้อ" ทางกลับกันถ้าตอนนี้ดีอยู่แล้วแต่กำลัง "จะไม่ดี" ก็ต้อง "ขาย" ส่วนตัวจึงชอบลงทุนหุ้นที่ "ยังไม่ดี" แต่ "กำลังจะดี" จะเข้าไปซื้อไว้ก่อน แต่ถ้าดีอยู่แล้วและกำลังจะดีน้อยลงนั่นคือจุดขาย"

ที่สำคัญการเล่นหุ้นแนวนี้ สภาพคล่องต้อง "มี" ไม่ต้อง "รอนาน" อยากซื้ออยากขายต้องได้เลย ถ้าเป็นหุ้นเล็กต้องมีวอลุ่มเข้าก่อนถึงจะค่อยสะสม พอวอลุ่มมาเต็มที่จะเลือกขายตอนที่มันดีแล้วถ้าเลยไปจากนั้นสภาพคล่องจะหายไปแล้ว ทั้งนี้ควรต้องมีหุ้นพื้นฐานดีแต่ Valuation ต่ำๆ ไว้ในพอร์ตด้วยเพื่อไม่ให้พอร์ตมันสวิงเกินไป

หลักการสำคัญของผมคือค่าเสียโอกาส ถ้าถือหุ้น 10 วันได้กำไร 10 บาท ถือ 90 วันได้กำไร 10 บาทเท่ากัน ช่วงเวลาที่รอผมไปลงทุนอย่างอื่นดีกว่า หุ้นก็คือสินทรัพย์ตัวหนึ่งอาจจะไปลงในทองคำหรืออย่างอื่นก่อนก็ได้

โดย กรุงเทพธุรกิจออนไล์ 24 กย 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น