"เซียนหุ้นพันธุ์ผสม"
"กระทรวง จารุศิระ"
ความรอบรู้เรื่องหุ้นของ “ซัน-กระทรวง จารุศิระ” เจ้าของพอร์ตหุ้น “หลักสิบล้านบาท” ถูกการันตีด้วยรางวัล “แชมป์สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ตลาดหุ้นไทย 2013” “ชายวัย
34 ปี” ลงทุนมา 10 ปี ปัจจุบันถูก “ป้อม-ปิยพันธ์
วงศ์ยะรา” ประธานกรรมการบริหาร Stock2Morrow
ฉกเข้าสังกัดเรียบร้อยแล้ว และมีแผนจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อเป็นวิทยาทานแก่เม่าน้อยมือใหม่
“ผมเป็นพี่ชายคนโต จากจำนวนพี่น้อง 2 คน
น้องสาวคนสุดท้องทำอาชีพ “ทันตแพทย์” ตอนเด็กๆคุณพ่อเปิดร้านขายของชำ
ส่วนคุณแม่ทำร้านทอง จังหวัดชลบุรี เมื่อห้างแม็คโครมาเปิดสาขาในจังหวัดชลบุรี
ทำให้ร้านขายของชำของคุณพ่อจำต้องปิดกิจการ
ส่งผลให้เหลือเพียงธุรกิจร้านทองเพียงอย่างเดียว
วันไหนท่านไปต่างประเทศจะไปช่วยดูแลแทน “นักลงทุนพันธุ์ผสม”
เล่าประวัติให้ “กรุงเทพธุรกิจ Biz
Week” ฟัง
เริ่มรู้จักตลาดหุ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี
2540 ตอนนั้นกำลังเรียนปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำได้ว่า
มีคนรู้จักของญาติ “ขาดทุนหุ้น” ในปี 2540 “หนัก” ถึงขั้นนำปืนมายิงจ่อปากตัวเองหน้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตอนนั้นเป็นข่าวใหญ่โต เราเห็นแบบนี้ทำให้ไม่รู้สึกอยากเล่นหุ้น “ตลาดหุ้นอันตราย” อดีตเคยคิดเช่นนั้น
เคยเห็นดัชนีตั้งแต่ “สูงสุด” 1,700 จุด และ “ต่ำสุด”
200 จุด ตอนนั้นแอบเสียดายเพราะยังไม่สนใจตลาดหุ้น
ช่วงนั้นราคาหุ้นแต่ละตัวถูกมาก ยกตัวอย่าง หุ้น เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ราคาต่ำแค่ 0.10 บาท สมัยนั้นถือเป็นหุ้นในฝันของนักลงทุนหลายๆคน
ปัจจุบันหุ้น CPN ถือเป็นหุ้นที่ทำให้พอร์ตของเราทะยานแตะ “หลักสิบล้านบาท” ต้นทุนเฉลี่ย 20 กว่าบาท
“จุดเริ่มต้นการลงทุน” เกิดขึ้นช่วงเรียนปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยความที่ต้องคลุกคลีกับวิชาวิเคราะห์ราคาหลักทรัพย์ขั้นพื้นฐาน
ทำให้ตัดสินใจสมัครแข่งขันโครงการ “มันนี แมเนจเม้นท์
อวอร์ดส์” ซึ่งเป็นโครงการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่จัดขึ้นเป็นปีแรก
เชื่อหรือไม่!!
รายการนี้ยากกว่าไปแข่งขันรายการ “แฟนพันธ์แท้”
อีก
เพราะว่าเป็นการรวบรวมผู้เข้าแข่งขันที่มีความรู้เรื่องการเงินล้วนๆ
แถมมีการแข่งกันหลายรอบ ผลปรากฎว่า เราได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
ทำให้มีโอกาสไปดูงานที่เกาะฮ่องกง 10 วัน และได้รางวัลเป็นหน่วยลงทุนมูลค่า
100,000 บาท ถือหน่วยลงทุนแค่วันเดียว เช้ารุ่งขึ้นขายทิ้งทันที
“กระทรวง” เล่าต่อว่า
เมื่อปี 2546 ได้รวบรวมเงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุน 100,000 บาท
และเงินเก็บอีกเล็กน้อยมาซื้อ หุ้น ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือ INTUCH ราคา 23 บาท และขายในราคา 32 บาท ใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน “ประทับใจมาก” ช่วงนั้นแอบคิดในใจ “เล่นหุ้นง่ายจัง”
ผ่านไป 1-2 ปี พอร์ตลงทุนโตเป็น 300,000 บาท
ตอนนั้นเน้นลงทุนหุ้นพื้นฐานอย่างเดียว หลักการที่ใช้เป็นแนววีไอล้วนๆ
ตอนนั้นยังไม่รู้จักเล่นเทคนิค วิธีการ คือ เน้นดูข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี
แต่หากอยากวิเคราะห์ราคาหุ้นในอนาคตจริงๆ ทำเพียงย้อนดูข้อมูลคงไม่พอ
เพราะราคาหุ้นมักตอบสนองข้อมูลในอดีตไปเกือบหมดแล้ว
ฉะนั้นช่วงนั้นจึงต้องวิเคราะห์เกี่ยวกิจการด้วยว่า
เขาสามารถสร้างกระแสเงินสดได้เท่าไหร่ แรกๆ ก็วิเคราะห์ผิดๆ ถูกๆ
“ชีวิตการลงทุนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ”
เขาเกริ่นนำ เมื่อปี 2551 เกิดวิกฤติทางการเงิน ทำให้พอร์ตลงทุน “ขาดทุน 50 เปอร์เซ็นต์” ตอนนั้นเริ่มรู้สึกท้อแท้กับการลงทุนแนววีไอ
แม้ราคาจะลดลงมากแต่ไม่ยอมขาย
เพราะเชื่อว่าสุดท้ายราคาจะดีดขึ้นมาสู่พื้นฐานที่แท้จริง ซึ่งในความเป็นจริงเราควรขายก่อนแล้วมารอรับที่ราคาข้างล่างถึงจะถูกต้อง
ช่วงนั้นมีหุ้นอยู่ประมาณ 3 ตัว นั่นคือ หุ้น
อินโอรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL ซื้อราคา 12 บาท
เมื่อเจอวิกฤติราคาลดลงมาอยู่ที่ 7 บาท นอกจากนั้นยังมี หุ้น ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBINK
และ หุ้น ปตท.” หรือ PTT หุ้น 2 ตัวหลังจำราคาต้นทุนไม่ได้ ผ่านมานานแล้ว (หัวเราะ)
“ผมก็เหมือนนักลงทุนแนว VI ทั่วไป คือ ซื้อหนังสือของคนเก่งๆมาอ่าน อาทิ หนังสือตีแตก ของ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” และหนังสือแปลของ
"ปีเตอร์ ลินซ์" และ “วอร์เรน บัฟเฟตต์”