วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

หนังสือคลาสสิค



หนังสือการลงทุนที่ผมจะพูดต่อไปนี้ผมคิดว่าเป็นหนังสือคลาสสิค เหตุผลสำคัญก็คือ  มันเป็นหนังสือที่เป็น  “Original”  นั่นคือ  เป็นหนังสือเล่มแรก ๆ  ที่เขียนเกี่ยวกับแนวความคิดที่สำคัญที่ต่อมาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง  หรือมันเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องของบุคคลสำคัญได้อย่างมีแง่มุมที่แหลมคมเป็นบทเรียนสำหรับคนรุ่นใหม่  หรือมันเป็นหนังสือที่ประยุกต์ความรู้และวิชาการลงทุนมาเขียนให้คนทั่วไปอ่านอย่างเข้าใจได้ง่าย  ต่าง ๆ  เหล่านี้  เป็นต้น           

--- เล่มแรกก็คือ  The Intelligent Investor โดย เบน เกรแฮม  นี่คือสุดยอดหนังสือคลาสสิคที่พูดถึงการลงทุนแบบ Value Investment  ซึ่งได้สร้าง  Value Investor หรือนักลงทุนเน้นคุณค่าขึ้นทั่วโลก  ว่าที่จริง  มันสร้างสิ่งที่เรียกว่า  “การวิเคราะห์หลักทรัพย์สำหรับการลงทุน”  ของนักลงทุนทั่วไปให้เกิดขึ้น  ทั้งนี้เพราะก่อนหน้าที่จะมีหนังสือเล่มนี้   การวิเคราะห์หลักทรัพย์นั้น  ยังแทบจะไม่มีใครทำ  นักลงทุนเล่นหุ้นโดยการฟังข่าวและอาจจะสนใจแต่เรื่องของภาวะเศรษฐกิจมากกว่าจะดูถึงมูลค่าพื้นฐานของกิจการ   หนังสือเล่มนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการลงทุนในหลักทรัพย์  ซึ่งนอกจากจะพูดถึงการวิเคราะห์คำนวณหาตัวเลขแล้วยังบอกถึงความสำคัญของจิตวิทยาการลงทุนของนักลงทุนด้วย           

---เล่มที่สองคือ  Common Stocks and Uncommon Profits and Other Writings โดย ฟิลลิป ฟิสเชอร์  นี่เป็นหนังสือการลงทุนเล่มแรก ๆ  ที่พูดถึงการลงทุนในกิจการที่ดีสุดยอด  ซึ่งกลายเป็นแนวความคิดของกลุ่มนักลงทุนที่เน้นกิจการที่โตเร็วหรือที่เรียกว่า  Growth Investment ซึ่งต่อมากลายเป็นแนวความคิดที่นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนมืออาชีพส่วนใหญ่นิยมยึดถือเป็นหลัก           

---เล่มที่ 3  คือ  A Random Walk Down Wall Street โดย  Burton Malkiel  นี่คือหนังสือที่เขียนขึ้นโดยอิงจากการศึกษาทางวิชาการลงทุนที่บอกว่า  ตลาดหุ้นนั้นมีประสิทธิภาพสูงมากและมันสามารถกำหนดราคาของหลักทรัพย์ทุกตัวให้มีราคาที่เหมาะสม  ดังนั้น  ไม่มีใครสามารถที่จะหาหุ้นราคาถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานได้อย่างต่อเนื่อง  และดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปวิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัวแต่ควรลงทุนหุ้นให้กระจายไปหลาย ๆ  ตัว  เช่น ลงทุนในกองทุนรวมที่อิงดัชนีเป็นต้น  หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ก็คือ  มันให้ข้อมูลและประวัติศาสตร์การลงทุนที่ดีมาก  ทำให้นักลงทุนเข้าใจภาพใหญ่ของการลงทุนและสามารถตัดสินได้ว่าจะทำอย่างไรกับการลงทุนของตนเอง           


วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

ถอดรหัส “Warren Buffett” ความสมถะท่ามกลางความร่ำรวย

“ความมั่งคั่งของเขาไม่ได้มาจากคุณสมบัติพิเศษหรือการทำงานหนัก แต่มาจากการที่เกิดมาถูกที่และถูกเวลา ผนวกกับความสามารถเฉพาะตัวที่สามารถแปลงหุ้นให้กลายเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล”    “Warren Buffett”



แง่มุมในชีวิตของคนๆหนึ่ง ที่ร่ำรวยมหาศาลติดอันดับมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก “Warren Buffet” ผู้ที่พยายามค้นหาปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ 

บัฟเฟตต์เป็นประธานผู้บริหารของบริษัท Berkshire Hathaway ซึ่งก่อตั้งขึ้น 170 ปีแล้ว และเคยทำกิจการด้านสิ่งทอเป็นหลักก่อนที่บัฟเฟตต์และหุ้นส่วนจะซื้อกิจการมาดำเนินงานเมื่อปี 2508 บัฟเฟตต์ใช้บริษัทนั้นเป็นทางผ่านการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งทำกิจการหลากหลายอย่าง รวมทั้งการประกันภัย หนังสือพิมพ์ ร้านอาหาร ธนาคารและร้านสรรพสินค้า เขาซื้อหลายบริษัท มาควบรวมและซื้อหุ้นของอีกหลายบริษัทเป็นบางส่วน ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เริ่มทรุด Berkshire Hathaway มีทรัพย์สินรวมกันเกือบ 300,000 ล้านดอลลาร์ บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จสูงกว่านักลงทุนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคาหุ้นของ Berkshire Hathaway เพิ่มขึ้นจาก 4 ดอลลาร์ต่อหุ้น เป็น 75,000 ดอลลาร์ ในเวลา 40 ปี

 The Snowball : Warren Buffett and the Business of Life เป็นหนังสือที่มีความหนาถึง 1,000 หน้าที่จะนำพาผู้อ่านไปค้นพบกับปัจจัยของการประสบความสำเร็จ ซึ่งหนังสือเล่มถูกสรุปแนวคิดของบัฟเฟตต์ออกมาเป็น 10 ข้อด้วยกัน ซึ่งในบรรดา 10 ข้อนี้ความสมถะพอเพียงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูงสุด

ข้อแรก จงเป็นผู้มัธยัสถ์ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง แต่มันมีความสำคัญพื้นฐานต่อการคิดของบัฟเฟตต์ ทั้งที่เป็นอภิมหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลก เขามีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย อาทิเช่น ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมซึ่งเขาซื้อเมื่อปี 2501 ที่เมืองโอมาฮาในรัฐเนแบรสกาซึ่งยังเป็นชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่ หลังจากต่อเติมบ้าง บ้านหลังนั้นก็ยังเป็นแบบของคนอเมริกันชั้นกลางโดยทั่วไป นอกจากนั้น เวลาเขาไปไหนมาไหนก็ยังขับรถเอง

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กูรู Value Investment เมืองไทย

(เป็นบทสัมภาษณ์ของเว็ป dooqo.com) นำมาแชร์ให้นักลงทุนครับ


dooqo : เส้นทางชีวิตของคุณมุ่งมาสู่ตลาดทุนได้อย่างไร

ตอนเรียนปริญญาตรีผมก็ไม่รู้ตัวเองเหมือนกัน สมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็ตามถ้าเรียนได้คะแนนดีก็ต้องไปทางหมอหรือไม่ก็วิศวะ จริงๆ ถ้าจะเรียนหมอก็คงได้ แต่ว่าตอนนั้นที่บ้านฐานะไม่ค่อยดี เรียนหมอนั้นยาวเกินไป ประกอบกับลึกๆ แล้วก็ไม่ค่อยชอบ จึงไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์สาขาเครื่องกล จุฬาฯ

เรียนจบมาไปทำงานเป็นวิศวกรต่างจังหวัด เชื่อไหมครับทำไปแค่เดือนสองเดือนนิ้วเกือบขาดเพราะว่าประสบการณ์ยังไม่พอ แล้วไปทำงานที่เรายังไม่เข้าใจ ทำไปสักพักเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน คือ ดร.ไพบูลย์ (เสรีวิวัฒนา) ที่เป็นเพื่อนสนิทกันมานานเขาไปเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ เราเองก็รู้สึกว่าน่าจะทำให้ทางเดินของเรามันกว้างขึ้น เพราะตอนที่อยู่โรงงานเมื่อมองไปแล้วเส้นทางชีวิตมันค่อนข้างตัน โดยเฉพาะมันเป็นธุรกิจครอบครัว ตำแหน่งสูงสุดอย่างมากก็แค่ผู้จัดการโรงงาน เพราะว่าตำแหน่งระดับบริหารใหญ่ๆ นั้นก็อยู่ในครอบครัวเขา เมื่อเห็นเช่นนั้นก็คิดว่าช่องทางนี้ตีบตันแน่นอน

ทำงานได้สองปีก็ขอลาออกเพื่อจะมาเรียนปริญญาโทที่นิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) แต่ที่ทำงานเขาบอกว่าไม่ต้องออกหรอก อาจเพราะว่าเห็นว่าเราขยันมั้ง (หัวเราะ) บอกให้แบ่งเวลา เรียนครึ่งหนึ่งทำงานครึ่งหนึ่ง เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี สมัยก่อนปริญญาโทที่ผมเรียนไม่มีเรียนกลางคืนหรือว่าเสาร์-อาทิตย์นะครับ ต้องเรียนเวลาปกติ เป็นอันว่าลดเงินเดือนกันไป ผมวิ่งไปวิ่งมาอยู่ 2 ปี เพราะฉะนั้นเราจะขาดเรียนครึ่งหนึ่งขาดทำงานครึ่งหนึ่ง เรียนจนจบก็ไปขอลาออกเพราะเราจะเปลี่ยนงานแล้ว

dooqo : ตอนนั้นมีแรงบันดาลใจที่จะเข้าสู่ตลาดทุนแล้วใช่ไหม

ยังครับ ตอนนั้นต้องยอมรับว่าตลาดทุนยังใหม่มาก เปิดมาได้แค่ปีสองปีไม่ค่อยมีใครรู้จัก เราคิดว่าอยากทำงานที่กว้างขึ้นคือการบริหาร ก็เพื่อนอีกนั่นแหละ ดร.ไพบูลย์คนเดิม เขาไปเรียนต่อเมืองนอกแล้วหลายปี เขาถามว่าสนใจไหมเพราะว่ายิ่งเรียนสูงก็มีโอกาสได้ทุน โดยเฉพาะถ้าเรียนปริญญาเอกโอกาสได้ทุนสูง จริงๆ ตอนนั้นเราแค่อยากไปเมืองนอกเท่านั้น คิดว่าปริญญาเอกมันไม่มีความจำเป็นและก็เป็นนักวิชาการ เราอยากจะไปเรียนซ้ำปริญญาโท อยากไปเมืองนอกเพราะอยากได้ภาษา อยากเห็นโลกกว้างขึ้น แต่สุดท้ายก็ต้องไปเรียนปริญญาเอกเพราะเป็นทางที่จะได้ทุน

ผมพยายามสอบ สอบครั้งแรกไม่ผ่านนะเพราะว่างานเรายุ่ง สุดท้ายลองไปสอบอีกครั้ง ก็ได้ไปเรียนปริญญาเอกด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ (University of Mississippi) ส่วนหนึ่งอาจารย์ที่นิด้าแนะนำให้ และทุนก็เป็นทุนแบบที่ไปช่วยทำวิจัยและเป็นอาจารย์ช่วยสอน ผมไปทั้งๆ ที่ในกระเป๋าไม่ค่อยมีสตางค์ มีเงินอยู่ก้อนหนึ่งที่ฝากเอาไว้เพราะที่บ้านยังพึ่งเราอยู่ ผมไปตัวเปล่าและไปทำงานช่วยอาจารย์วิจัยเป็นหลักและเรียนควบคู่กัน จนเรียนจบจึงกลับมา

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

งานประจำของ VI


การที่จะเป็น Value Investor ที่ดีนั้นเราจะต้องทำอะไร?  ถ้า VI ไม่ค่อยซื้อขายหุ้นหรือตามราคาหุ้นแล้ว  วัน ๆ  เขาจะทำอะไร?  คำตอบของผมก็คือ  งานของ VI ก็คือ การค้นหาหุ้นที่จะลงทุนและการเพิ่มความสามารถในการเลือกหุ้นและการจัดการการลงทุนได้อย่างเหมาะสม  ซึ่งจะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีโดยที่มีความเสี่ยงไม่มาก  และต่อไปนี้ก็คือ  งานบางอย่างที่ผมคิดว่า VI ที่มุ่งมั่นควรทำเป็นประจำ
เรื่องแรกคือ  การหาความรู้เรื่องการลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นแนว  Value Investment  และวิธีที่ดีที่สุดก็คือ  การอ่านหนังสือการลงทุนที่เขียนโดยนักวิชาการหรือนักลงทุนที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จในสายงานของตน  

หนังสือการลงทุนนั้นมีมากมายมหาศาลยากที่จะอ่านได้หมด  ดังนั้น  อย่างน้อยเราควรอ่านเดือนละเล่มโดยเฉลี่ย  และเนื้อหาของหนังสือนั้นควรจะครอบคลุมกว้างขวางในทุกด้านของทฤษฎีและปรัชญาการลงทุน  ข้อแนะนำเพิ่มเติมของผมก็คือ  นอกจากหลักการของ Value Investment แล้ว  อย่างน้อยเราควรจะต้องอ่านและเข้าใจทฤษฎี  “ตลาดที่มีประสิทธิภาพ” หรือ  Efficient Market ของนักวิชาการที่บอกว่าการลงทุนให้ได้กำไรมากกว่าปกติในระยะยาวนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ไม่ว่าคุณจะใช้หลักการอะไร  เหตุผลก็เพราะมันจะเป็นเครื่องเตือนใจเราตลอดเวลาว่า  การลงทุนเป็นเรื่องที่  “ไม่ง่าย”  อย่าประมาท

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า

 
 
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
 
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ การลงทุนตามมูลค่า (อังกฤษ: value investing) เป็นแนวทางการลงทุนที่ริเริ่มและพัฒนาขึ้นโดย เบนจามิน เกรแฮม และต่อมาถูกนำมาใช้โดยวอเรน บัฟเฟต เป็นแนวทางการลงทุนที่เน้นลงทุนในกิจการที่ผู้ลงทุนมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

หลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า
ตามหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า นักลงทุนจะประเมินมูลค่าบริษัทและหุ้นของบริษัทด้วยปัจจัยพื้นฐาน เมื่อได้มูลค่าที่เหมาะสมแล้วจึงพิจารณาราคาในตลาดหลักทรัพย์ หากพบว่าราคาของหลักทรัพย์ทั้งหมดต่ำกว่า ก็จะเข้าซื้อหุ้น ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าราคาในตลาดจะวิ่งไปหามูลค่าที่เหมาะสมในระยะยาว อันที่จริง หลักการลงทุนทุกรูปแบบยกเว้นแบบเทคนิคอล จะเลือกซื้อหุ้นเมื่อพบว่าราคาหลักทรัพย์ต่ำกว่ามูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน (หลักการทางเศรษฐศาสตร์ก็บอกเช่นกันว่า ให้ลงทุนในโครงการที่มี Abnormal Profit หรือ Economic Profit)

ดังนั้น การเลือกหุ้นที่ราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน จึงมิไม่เป็นหลักการเฉพาะของการลงทุนแบบคุณค่าแต่อย่างใด ที่หลักการการลงทุนแบบคุณค่าแตกต่างกับวิธีการการลงทุนแบบอื่นๆก็คือ การลงทุนแบบคุณค่าเชื่อว่าอัตราส่วนทางบัญชี เช่น P/E และ P/BV ที่ต่ำ สามารถบ่งบอกว่าราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน

โลกในมุมมองของ Value Investor


ในเรื่องของการลงทุนหรือเล่นหุ้นนั้น มีเทคนิคหรือวิธีการหลายอย่างที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น ลงทุนแบบ Value หรือเน้นคุณค่า เล่นหุ้นแบบดูกราฟแนวรับแนวต้าน หรือเล่นหุ้นโดยวิธีการ “ปั่นหุ้น” เป็นต้น

คำถามก็คือ เล่นหุ้นด้วยวิธีไหนดีที่สุด?
ก่อนที่จะตอบคำถามนั้น ผมคงต้องเติมข้อความในวงเล็บว่า ดีที่สุด (โดยเฉลี่ย) เพราะในแต่ละเทคนิคหรือวิธีการนั้น คนที่ทำได้ดีอาจจะเก่งมากจนทำได้ดีกว่าคนที่เก่งที่สุดในอีกวิธีหนึ่ง แต่โดยเฉลี่ย ซึ่งรวมถึงคนที่ไม่เก่งทั้งหมดด้วยแล้ว วิธีนั้นอาจจะแพ้การลงทุนอีกวิธีหนึ่งที่คนเก่งมากกับคนที่เก่งน้อยได้ผลตอบแทนไม่ต่างกันมากก็ได้

ประเด็นต่อมาก็คือ ในการที่จะบอกว่าวิธีไหนดีกว่าวิธีอื่นนั้น เราจำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อที่จะพิสูจน์ ดังนั้น วิธีการลงทุนหรือเล่นหุ้นบางอย่างที่หาข้อมูลไม่ได้ เช่น การ “ปั่นหุ้น” นั้น เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นวิธีที่ดีแค่ไหนในการทำกำไรแม้ว่าเราจะเชื่อว่าเป็นวิธีที่น่าจะได้ผลตอบแทนสูงสุด อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมายและผมไม่แนะนำให้ทำ มันก็เหมือนกับถามว่า วิธีทำงานหาเงินที่ได้เงินมากและเร็วที่สุดคืออะไร? ซึ่งคำตอบของเราอาจจะบอกว่า การ “คอร์รัปชั่น” แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนสามารถทำได้ เช่นเดียวกับการ “ปั่นหุ้น” ที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้

ในการศึกษาเรื่องของเทคนิคหรือวิธีการในการลงทุนหรือเล่นหุ้นนั้น ในเชิงวิชาการเราสามารถแบ่งออกได้เป็นกลุ่มหลัก ๆ 4 วิธีด้วยกันคือ