วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กูรู Value Investment เมืองไทย

(เป็นบทสัมภาษณ์ของเว็ป dooqo.com) นำมาแชร์ให้นักลงทุนครับ


dooqo : เส้นทางชีวิตของคุณมุ่งมาสู่ตลาดทุนได้อย่างไร

ตอนเรียนปริญญาตรีผมก็ไม่รู้ตัวเองเหมือนกัน สมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็ตามถ้าเรียนได้คะแนนดีก็ต้องไปทางหมอหรือไม่ก็วิศวะ จริงๆ ถ้าจะเรียนหมอก็คงได้ แต่ว่าตอนนั้นที่บ้านฐานะไม่ค่อยดี เรียนหมอนั้นยาวเกินไป ประกอบกับลึกๆ แล้วก็ไม่ค่อยชอบ จึงไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์สาขาเครื่องกล จุฬาฯ

เรียนจบมาไปทำงานเป็นวิศวกรต่างจังหวัด เชื่อไหมครับทำไปแค่เดือนสองเดือนนิ้วเกือบขาดเพราะว่าประสบการณ์ยังไม่พอ แล้วไปทำงานที่เรายังไม่เข้าใจ ทำไปสักพักเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน คือ ดร.ไพบูลย์ (เสรีวิวัฒนา) ที่เป็นเพื่อนสนิทกันมานานเขาไปเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ เราเองก็รู้สึกว่าน่าจะทำให้ทางเดินของเรามันกว้างขึ้น เพราะตอนที่อยู่โรงงานเมื่อมองไปแล้วเส้นทางชีวิตมันค่อนข้างตัน โดยเฉพาะมันเป็นธุรกิจครอบครัว ตำแหน่งสูงสุดอย่างมากก็แค่ผู้จัดการโรงงาน เพราะว่าตำแหน่งระดับบริหารใหญ่ๆ นั้นก็อยู่ในครอบครัวเขา เมื่อเห็นเช่นนั้นก็คิดว่าช่องทางนี้ตีบตันแน่นอน

ทำงานได้สองปีก็ขอลาออกเพื่อจะมาเรียนปริญญาโทที่นิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) แต่ที่ทำงานเขาบอกว่าไม่ต้องออกหรอก อาจเพราะว่าเห็นว่าเราขยันมั้ง (หัวเราะ) บอกให้แบ่งเวลา เรียนครึ่งหนึ่งทำงานครึ่งหนึ่ง เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี สมัยก่อนปริญญาโทที่ผมเรียนไม่มีเรียนกลางคืนหรือว่าเสาร์-อาทิตย์นะครับ ต้องเรียนเวลาปกติ เป็นอันว่าลดเงินเดือนกันไป ผมวิ่งไปวิ่งมาอยู่ 2 ปี เพราะฉะนั้นเราจะขาดเรียนครึ่งหนึ่งขาดทำงานครึ่งหนึ่ง เรียนจนจบก็ไปขอลาออกเพราะเราจะเปลี่ยนงานแล้ว

dooqo : ตอนนั้นมีแรงบันดาลใจที่จะเข้าสู่ตลาดทุนแล้วใช่ไหม

ยังครับ ตอนนั้นต้องยอมรับว่าตลาดทุนยังใหม่มาก เปิดมาได้แค่ปีสองปีไม่ค่อยมีใครรู้จัก เราคิดว่าอยากทำงานที่กว้างขึ้นคือการบริหาร ก็เพื่อนอีกนั่นแหละ ดร.ไพบูลย์คนเดิม เขาไปเรียนต่อเมืองนอกแล้วหลายปี เขาถามว่าสนใจไหมเพราะว่ายิ่งเรียนสูงก็มีโอกาสได้ทุน โดยเฉพาะถ้าเรียนปริญญาเอกโอกาสได้ทุนสูง จริงๆ ตอนนั้นเราแค่อยากไปเมืองนอกเท่านั้น คิดว่าปริญญาเอกมันไม่มีความจำเป็นและก็เป็นนักวิชาการ เราอยากจะไปเรียนซ้ำปริญญาโท อยากไปเมืองนอกเพราะอยากได้ภาษา อยากเห็นโลกกว้างขึ้น แต่สุดท้ายก็ต้องไปเรียนปริญญาเอกเพราะเป็นทางที่จะได้ทุน

ผมพยายามสอบ สอบครั้งแรกไม่ผ่านนะเพราะว่างานเรายุ่ง สุดท้ายลองไปสอบอีกครั้ง ก็ได้ไปเรียนปริญญาเอกด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ (University of Mississippi) ส่วนหนึ่งอาจารย์ที่นิด้าแนะนำให้ และทุนก็เป็นทุนแบบที่ไปช่วยทำวิจัยและเป็นอาจารย์ช่วยสอน ผมไปทั้งๆ ที่ในกระเป๋าไม่ค่อยมีสตางค์ มีเงินอยู่ก้อนหนึ่งที่ฝากเอาไว้เพราะที่บ้านยังพึ่งเราอยู่ ผมไปตัวเปล่าและไปทำงานช่วยอาจารย์วิจัยเป็นหลักและเรียนควบคู่กัน จนเรียนจบจึงกลับมา
dooqo : กลับมาก็เข้าทำงานที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT)

ใช่ ทำงานที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ทำงานเก่าเขาก็ตามเรากลับไปนะ แต่ผมบอกว่าคงไม่ได้แล้วเพราะว่าเราเรียนมาหลากหลายมากแล้วและคิดว่าอยากจะเปลี่ยน งานที่ IFCT เป็นงานในฝ่ายวางแผน นี่คือก้าวแรกที่เข้าสู่การเงิน แต่ก็เป็นการเงินแบบสมัยก่อนนะ การให้เงินกู้กับโครงการซึ่งเราก็ไม่ได้ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่สินเชื่อด้วยซ้ำไป เพียงแต่อยู่ในสถาบันการเงิน แต่ก็ได้เห็นโลกการเงิน

ผมอยู่ IFCT ประมาณ 7 ปี หลังจากนั้นตลาดหุ้นเริ่มบูม เริ่มมีกิจกรรมต่างๆ ความต้องการที่เรียกว่า Investment Bank วานิชธนกิจเยอะ เพราะว่ามีการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เราก็เลยก้าวไปสู่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เป็นจุดเริ่มของชีวิตที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ที่นวธนกิจ

ทำงานจนกระทั่งขึ้นมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ หลังจากนั้นในช่วงปลายๆ ของการทำงานในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ก็เกิดวิกฤตซึ่งมาจากปี 2539 แล้วละ แต่ปี 2540 เป็นปีที่หนักที่สุด ตอนนั้นเราก็ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยดูแลการลงทุนของบริษัท เริ่มศึกษาเรื่องพวกนี้ และในช่วงท้ายเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นตกต่ำ ก็เห็นช่องทางแล้วว่าในวิกฤตนั้นมันมีโอกาสอยู่ เราเริ่มศึกษาการลงทุนแบบ Value Investment และมันก็เริ่มได้ผล แต่เมื่อเกิดวิกฤตในที่สุดก็ต้องออกจากสถาบันการเงิน คิดว่าคงจะลำบากนะเพราะอายุเราเยอะแล้ว เมื่ออยู่ในงานสถาบันการเงินโอกาสที่จะหางานใหม่นั้นยาก เพราะตอนนั้นคนที่อยู่ในสถาบันการเงินก็ถูกปลดกัน อีกทั้งตำแหน่งก็สูง โอกาสที่จะมีคนมารับไปทำงานต่อนั้นยาก

dooqo: คุณได้รับการยอมรับในฐานะ Value Investor แล้วคำว่า Value Investment นี้ถูกตีความหลากหลายมาก สำหรับคุณให้คำจำกัดความอย่างไร

การลงทุนแบบ Value Investment ก็คือการลงทุนที่เราเน้นมูลค่าที่แท้จริงของกิจการว่ามันควรจะมีค่าเท่าไหร่ แล้วเราก็จะลงทุนโดยดูจากราคาหุ้นกับมูลค่าที่แท้จริงซึ่งมันอาจจะไม่เท่ากัน ราคาหุ้นอาจจะต่ำกว่าหรือสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง ฉะนั้นเมื่อเรารู้มูลค่าที่แท้จริงแล้วเราไปดูว่าราคามันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงรึเปล่า ถ้ามันต่ำกว่าในหลักการก็บอกว่าคนจะเริ่มมาซื้อมาลงทุน ถ้าเราซื้อเมื่อมันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงและขายเมื่อราคาเกินมูลค่าที่แท้จริงเราจะได้กำไร หลักการใหญ่เราต้องวิเคราะห์ตัวกิจการว่าหุ้นแต่ละตัวมันควรจะมีมูลค่าที่แท้จริงเท่าไหร่ ซึ่งมูลค่าที่แท้จริงนั้นมาจากกำไรของกิจการ มาจากเงินปันผล มาจากหลายๆ อย่างซึ่งเราต้องวิเคราะห์ และลงทุนตามไป

วันที่ผมคิดเรื่องนี้ก็คือวันที่ผมมีงานน้อย เป็นเวลาที่สมองปลอดโปร่งและเริ่มเห็นโอกาสจากวิกฤต ที่จริงเราก็อ่านหนังสือเยอะและพบว่าจริงๆ แล้วหลักการนี้ไม่ใช่ของใหม่นะครับ ในอเมริกาเกิดมา 70 กว่าปีแล้ว และเกิดหลังวิกฤตเหมือนกัน ปรมาจารย์ที่ชื่อ เบน เกรแฮม (Ben Graham) เขาคิดเรื่อง Value Investing หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอเมริกา เขาเขียนหนังสือขึ้นมา 2 เล่ม เป็นเสมือนไบเบิลของ Value Investment ฉะนั้นเราก็มีโอกาสนำเสนอคอนเซปต์ความคิดนี้ในเมืองไทย และโดยส่วนตัวคิดว่าเป็นโอกาสที่จะลงทุน เพราะว่ามันเกิดความแตกต่างที่แท้จริงระหว่างมูลค่าที่แท้จริงกับราคาที่สูงมาก ผมจึงเริ่มลงทุนมาเรื่อย พร้อมกับเขียนหนังสือเล่มแรกขึ้นมาที่ชื่อว่า “ตีแตก” ก็ต้องถือว่าเป็นไบเบิลของ Value Investment ของเมืองไทย พร้อมกับทำงานเพิ่มเติมด้วยการเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจทุกสัปดาห์ ผมเสนอตัวเข้าไปเองเลย ตอนนั้นเห็นว่าเป็นโอกาสและเรามีคุณสมบัติพร้อม เรามีความรู้ เรียนจบมาทางสายการเงินโดยตรง และช่องว่างที่สำคัญคือไม่มีใครในเมืองไทยรู้จัก ไม่มีใครเคยพูดถึง ที่จริงไม่มีศัพท์คำนี้อยู่ในประเทศไทยด้วยซ้ำ

dooqo : คุณมักกล่าวถึงวอร์เรน บัฟเฟต์ (Warren Edward Buffet) มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ประทับใจสิ่งใดในตัวเขา

อันที่จริงวอร์เรน บัฟเฟต์ ไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งแนวความคิดนี้นะ เบน เกรแฮม เป็นคนคิดเรื่อง Value Investing ขึ้นมา แต่วอร์เรน บัฟเฟต์ เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของเบน เกรแฮม แต่เหตุที่พูดถึงลูกศิษย์บ่อยก็เพราะว่าเวลานี้เขาเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกจากการลงทุน คนที่ประสบความสำเร็จระดับนี้ยาก วอร์เรน บัฟเฟต์ เขาเริ่มตั้งแต่เรียนจบเลย และมีโอกาสลงทุนยาวถึง 50 ปี ส่วนเรานั้นเริ่มต้นตอนอายุ 40 กว่า เงินก็น้อยมาก (สีหน้าบ่งบอกปริมาณว่าน้อย) ฉะนั้นสำหรับผมเองถ้าหากจะเปรียบเทียบอาจจะเป็นเบน เกรแฮม มากกว่าเป็นวอร์เรน บัฟเฟต์ เพราะเขามีเงินเยอะมาก ส่วนเราไม่ได้มีเยอะอย่างเขา ดูแล้วใกล้เคียงกับเบน เกรแฮม มากกว่า

คนส่วนใหญ่เขารู้สึกว่าการมีเงินมหาศาลเป็นอะไรที่คนสนใจ และวอร์เรน บัฟเฟต์ ก็มีชีวิตที่ค่อนข้างแปลกออกไปแต่เป็นไปในทางที่ดี เช่น เป็นคนที่สมถะมาก เป็นคนที่มีความคิด มองโลกในมุมมองที่เฉียบคม มีการลงทุนที่เป็นสไตล์ของเขา คือ เบน เกรแฮม เหมือนกับเป็นคนสร้างพื้นฐาน แต่วอร์เรน บัฟเฟต์ เอามาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จสูงมาก ก็เลยทำให้ในแง่ของนักลงทุนเมื่อพูดถึงความโด่งดัง วอร์เรน บัฟเฟต์ น่าจะเป็นไอดอลที่เขาอยากจะเป็นกัน สำหรับเบน เกรแฮม ตอนที่คิดเรื่องนี้อายุก็มากแล้ว แต่เขาก็รวยเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้รวยมากเพราะว่ามีเวลาลงทุนน้อย และเขาก็ไม่ได้มีโอกาสดังในตอนที่มีชีวิต ต่างกับวอร์เรน บัฟเฟต์ ที่ลงทุนอย่างเดียวแล้วรวยเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกได้โดยที่ไม่ได้ทำธุรกิจเลย มันก็เป็นอะไรที่มหัศจรรย์ ทุกคนอยากจะเป็นวอร์เรน บัฟเฟต์ เมืองไทย

ที่บอกว่าผมน่าจะเหมือนเบน เกรแฮม ก็เพราะว่าเราเกิดขึ้นมาจากวิกฤต เป็นคนที่ก่อตั้งแนวความคิดในประเทศไทย เป็นคนที่เขียนหนังสือ เป็นนักวิชาการไปสอนหนังสือแบบเบน เกรแฮม

dooqo : อยากให้คุณชี้ให้เห็นโอกาสในวิกฤต เช่นเมืองไทย กรณีวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

ผมพบว่าในยามที่เกิดวิกฤต ราคาหุ้นทั้งหมดตกลงมาต่ำมาก แต่มีหุ้นบางตัวที่มูลค่ามันไม่ได้ลดลง ซึ่งผมยกตัวอย่างตลอดเวลาว่าบริษัทขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ได้มีปัญหาเลย จริงๆ มูลค่าของบริษัทผลิตบะหมี่นั้นยังดีอยู่เหมือนเดิม เพราะว่ายอดขายของเขาในยามวิกฤตเศรษฐกิจไม่ได้ลดลง กำไรก็ไม่ลดลง ปันผลก็ยังดีเพียงแต่ราคาหุ้นมันตกต่ำ เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นตรงนี้ก็เป็นโอกาสในการเข้าไปซื้อกิจการดีๆ ในราคาที่ต่ำมาก เหมือนกันตอนนี้ ถ้าหากว่าคนมีสตางค์จะไปซื้อที่ดินก็จะเห็นได้เลยว่ากำไรมหาศาล แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้วเพราะว่าวิกฤตผ่านไปแล้วโอกาสก็หายไปด้วย เพราะฉะนั้นวิกฤตมันมากับโอกาส ถ้าเรารู้แล้วกล้าที่จะทำเราก็เข้าไปทำ

dooqo : การลงทุนแบบระยะยาวกับการลงทุนแบบเก็งกำไรนักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์อย่างไร

การลงทุนแบบเก็งกำไรมันเป็นการมองระยะสั้นๆ ซื้อหุ้นมาพอราคาหุ้นขึ้นก็ขายไป หวังว่าราคามันจะขึ้นไปอย่างรวดเร็วแล้วก็ขายไป ซึ่งก็จะมีหุ้นกลุ่มหนึ่งมีพฤติกรรมคล้ายๆ อย่างนั้น คือราคาหุ้นวิ่งขึ้นวิ่งลงเร็วมาก ถ้าเราเก่งเราจะรู้ว่าช่วงนี้ซื้อแล้วอีกไม่กี่วันมันจะขึ้นเราก็ขายไปได้กำไร แต่ว่าการเก็งกำไรมันมีสองด้าน มันก็มีโอกาสลงพอๆ กัน ถ้าเราซื้อแล้วมันลงเราก็ขาดทุน พอเราทำอย่างนี้บ่อยๆ ในทางสถิติเขาบอกว่าเราไม่รู้จริง เราจะรู้จะทำได้ถูกต้องประมาณ 50% ในเมื่อเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวกำไร เดี๋ยวขาดทุนมันก็อาจจะเสมอตัว เพราะว่าไม่ได้กำไรแต่ว่าเราจะเสียค่าคอมมิชชั่นที่ไปจ่ายให้โบรกเกอร์ แล้วเวลาซื้อขายหุ้นมันจะมี Spread ก็คือเวลาต้องการซื้อเราจะซื้อแพง แต่เวลาขายเราจะขายถูกกว่านิดหน่อย เขาเรียกว่า Spread คือความแตกต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขาย โดยสรุปแล้วถ้าเราเล่นอย่างนี้เรื่อยๆ มันจะเป็นสถิติเลยว่าทั่วไปแล้วต้องขาดทุน

แต่ถ้าลงทุนระยะยาว เราซื้อและคิดอย่างรอบคอบก่อน คือซื้อแล้วเก็บเอาไว้ รอไปเรื่อยๆ อาจจะหลายเดือนอาจจะเป็นปี ถามว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าราคาหุ้นจะขึ้น ก็ต้องบอกว่าราคาหุ้นในระยะยาวมันจะค่อยๆ ปรับตัวไปตามผลการดำเนินงานของบริษัทก็คือปรับตามกำไร พอมันกำไรเพิ่มขึ้นมาราคาหุ้นก็เพิ่มเราก็ได้กำไรจากส่วนต่างตรงนี้โดยที่ค่าคอมมิชชั่นเราก็เสียน้อยเพราะว่านานๆ เราจะซื้อทีขายที เพราะฉะนั้นการลงทุนระยะยาวเราเก็งว่ากำไรของบริษัทจะดีขึ้นแล้วก็ซื้อ การเก็งว่ากำไรของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมันง่ายกว่าไปเก็งว่าหุ้นจะขึ้นพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ เพราะมันมีปัจจัยพื้นฐานรองรับ อย่างที่ผมบอกว่ามีปัจจัยจากการที่กิจการเข้มแข็ง กิจการเป็นที่นิยม สินค้าเขาเป็นที่นิยม และเขาก็ทำกำไรมาได้ตลอด เพราะฉะนั้นโอกาสที่เขาจะกำไรดีขึ้นมันก็น่าจะดี

dooqo: เมื่อคนหันมาลงทุนมากขึ้น ทั้งการลงทุนระยะยาวและการลงทุนแบบเก็งกำไร จะมีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร

ต้องมองไปถึงตลาดทุนโดยภาพรวม ว่านักลงทุนหรือนักเก็งกำไรก็ดีที่เข้ามาในตลาดหลักทรัพย์มีผลอะไรกับเศรษฐกิจโดยรวมบ้าง อันนี้ต้องเล่าย้อนกลับไปเล็กน้อยว่าตลาดทุนโดยรวมหรือตลาดหลักทรัพย์มันทำงานอย่างไร จริงๆ แล้วเรียกตลาดหลักทรัพย์ว่าตลาดทุนดีกว่านะ ตลาดทุนมันก็เป็นกลไกอีกอันหนึ่งที่เหมือนกับว่าพยายามระดมเงินระดมทุนจากประชาชนทั่วไปเพื่อเอาไปสร้างธุรกิจ เพื่อเอาไปขยายงาน อย่างสมัยก่อนเราไม่มีตลาดทุน ถ้าคุณจะสร้างบริษัทใหญ่ๆ ขึ้นมาตลาดหนึ่งต้องไปกู้ธนาคาร ต้องมีคนมาลงทุน มีครอบครัวที่มีเงินเยอะๆ แล้วก็มาลงทุนทำอะไรบางอย่างและขายสินค้า เศรษฐกิจก็จะเติบโตโดยการขยายงาน แต่ว่าในระบบธุรกิจโลกสมัยใหม่มันไม่พอ เพราะว่าครอบครัวมีเงินไม่พอ สมัยก่อนรัฐบาลต้องเข้ามาทำเพราะรัฐบาลมีเงิน ยกตัวอย่างเช่นโทรศัพท์เป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก ไม่มีใครมีเงินทำได้ไม่ว่าครอบครัวจะรวยขนาดไหน รัฐบาลก็ต้องเข้ามาทำ ตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ เอาเงินหลวงใส่เข้าไปแล้วกู้ธนาคารบ้างมาทำกิจการให้ใหญ่ กระทั่งต่อมาแม้กระทั่งรัฐบาลก็ไม่ไหว เพราะว่าโลกสมัยใหม่ใช้เงินเยอะมาก และรัฐบาลก็ไม่ควรจะมาลงทุนทำอย่างเดียว รัฐบาลควรจะไปพัฒนาด้านต่างๆ เอาเงินมาสร้างถนนหนทาง ไม่ควรจะมาตั้งกิจการแข่งกับเอกชน ในลักษณะนี้ใครจะมาทำหน้าที่ตรงนี้ ในโลกสมัยใหม่ก็บอกว่าต้องเป็นตลาดทุนเพราะตลาดทุนสามารถระดมเงินจากคนเป็นล้านๆ เงินมันก็มหาศาล

dooqo : มุมมองของคุณต่อตลาดทุนไทยเป็นอย่างไรบ้าง

เราเป็นตลาดที่เกิดใหม่ วัตถุประสงค์ในการสร้างตลาดมันก็เป็นวัตถุประสงค์ที่ดีที่สุด แต่แน่นอนในเมื่อมันเป็นอะไรที่มีการได้เงินเสียเงิน มีผลตอบแทน มันก็จะมีบางส่วนที่เอาเปรียบเช่นไปปั่นหุ้น หรือบางคนเก็งกำไร ใช้กันจนเหมือนเป็นบ่อนการพนันก็มีแต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยอยู่ บางคนอาจจะร่ำรวยแบบเอาเปรียบก็มี แต่มันก็เป็นเหมือนองค์กรทั่วไปที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์ แต่จนถึงวันหนึ่งตลาดทุนก็จะเป็นแหล่งที่สามารถระดมทุนได้ มีประสิทธิภาพจริงๆ หมายความว่าเป็นแหล่งที่เมื่อคุณเข้าไปแล้วการที่จะขาดทุนเสียหายหนักๆ นั้นน้อย ส่วนใหญ่ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ไม่ใช่เป็นแบบปัจจุบันที่เมื่อเข้ามาแล้วไม่รู้เรื่อง คุณเข้าใจผิดหรือคุณเข้ามาเพื่อหวังจะมีกำไรเร็วๆ มีความโลภมากมายจะเสียหาย การพัฒนาก็จะช้าลง ในเมื่อคนมองว่าตลาดหุ้นเป็นแหล่งที่น่ากลัว เป็นแหล่งการพนัน ทำให้คนอีกกลุ่มใหญ่ยังไม่กล้าเข้ามาในตลาด

dooqo : เท่าที่ฟังมาดูจะคล้องจองกับเนื้อเพลงที่ว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” คนมองว่าเป็นการพนันขันต่อในระดับหนึ่ง

มันคือภาพที่ผิดไป สร้างภาพว่าตลาดหุ้นเป็นแหล่งที่เหมือนกับการพนัน เหมือนกับการแทงหวย มีได้มีเสีย คนจนก็ไปเล่นหวยเพราะหวยแทง 10 บาทก็ได้ 100 บาทก็ได้ แต่ตลาดหุ้นอย่างน้อยก็เป็นหมื่นหรือขึ้นไปหลักแสน ฉะนั้นมันไปเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยนะครับ อันหนึ่งเป็นการพนัน อีกอันเป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างโรงงานสร้างบริการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับสังคม

dooqo : คิดอย่างไรกับคนที่เป็นนักปั่นหุ้นนักเก็งกำไรที่บางคนมองว่าเป็นขาใหญ่ในตลาดหุ้น

เราไม่ได้คิดอะไรมากเพราะเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขา เราอยู่ในตลาดเดียวกันก็จริง บางครั้งเล่นหุ้นตัวเดียวกันก็จริง แต่ว่าวัตถุประสงค์เอย แนวความคิดเอยแตกต่างกันเยอะ เราก็ไม่อยากจะไปเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของทางใครทางมัน แต่เราก็พยายามให้ความรู้กับคนที่อยากจะใช้ตลาดหุ้นเพื่อการลงทุนจริงๆ นี่เป็นคอนเซปต์สำคัญของเรื่อง Value Investment

dooqo : ประเทศไทยมีการปั่นหุ้นหรือการเก็งกำไรแบบนี้มาตลอด คุณมองบทบาทของกลต.ที่มีหน้าที่ตรวจสอบรับผิดชอบกรณีเหล่านี้อย่างไรบ้าง

ถ้าจะพูดกันตามตรงก็ยังทำอะไรมากไม่ค่อยได้ สรุปง่ายๆ ก็คือว่าการปั่นหุ้นในประเทศไทยยังทำได้พอสมควร แต่มันเป็นผลจากการที่บ้านเรานั้นสภาพแวดล้อมมันส่งเสริมการเก็งกำไร คนอยากเข้ามาเล่นเก็งกำไรกันเร็วๆ ในเมื่อสภาพแวดล้อมมันส่งเสริมโอกาสที่คนจะทำก็มากขึ้น คือสังคมมันส่งเสริมสภาพแวดล้อมในตลาดทุน คนที่เข้ามาอยากจะปั่นก็ทำง่าย การจะไปจับหรือตั้งกฎเกณฑ์ก็ยากขึ้น

dooqo : เหมือนกับเชื้อโรคเติบโตได้ดีในสภาวะอากาศร้อนชื้น

สภาพแวดล้อมมันเหมาะสม อย่างในเมืองนอกเอาง่ายๆ เลยนะ เขาบอกว่าถ้าใครซื้อมาวันนี้พรุ่งนี้รัฐบาลเก็บภาษี ถ้าคุณซื้อวันนี้แล้วปีหน้าขายอย่างนี้เก็บภาษีน้อยหน่อย

dooqo : แล้วบทบาทขององค์กรที่มีหน้าที่ตัดสินใจหรือดำเนินงานที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจหรือกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง เป็นอย่างไร

บทบาทในตลาดทุนก็กลต. ในส่วนตลาดเงินพวกสถาบันการเงินก็เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย งานของธนาคารแห่งประเทศไทยเขาควบคุมสถาบันการเงิน ค่อนข้างทำได้ง่ายเพราะว่าสถาบันการเงินก็มีไม่กี่แห่งในประเทศและเขาก็ทำมาโดยตลอด การคุมสถาบันมันง่าย แต่อย่างกลต.คนสารพัดเลย ทั่วประเทศ รายเล็กรายน้อยมากมายมันจึงทำยากกว่า ความซับซ้อนมันมีมากกว่า อะไรผิดอะไรถูกบางทีมันดูยาก

dooqo : วิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อนักลงทุนไทยทั้งรายใหญ่และรายย่อยอย่างไรบ้าง

Value Investing เราไม่สนใจเท่าไหร่ เศรษฐกิจโลกที่มองผลกระทบจากสหรัฐก็ไม่กระทบถ้าเป็น Value Investor เพราะว่าเราต้องไปวิเคราะห์ว่าผลกระทบจริงๆ เป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ที่เราเห็นผลกระทบมันเป็นผลกระทบที่เรียกว่าทางอ้อมด้านหนึ่ง เป็นผลกระทบเรื่องจิตวิทยาอีกหนึ่ง มันไม่ได้กระทบถึงพื้นฐานของกิจการอื่นๆ แต่ว่าคนกลัว เมื่อตกใจก็ออกมาเทขายหุ้น หากถามว่าผลกระทบมันถึงตัวบริษัทไหม เราบอกว่าหลายบริษัทไม่เห็นกระทบเลย เขาขายน้ำขายอาหารในประเทศไทย Subprime ที่เกิดในสหรัฐคนจะเลิกกินอาหารหรืออย่างไร ถ้าตอบว่าไม่ก็แปลว่ามันไม่ได้กระทบ แล้วถ้ามันไม่ไปกระทบตัวกิจการที่เราลงทุนจริงๆ ก็ไม่เห็นจะเดือนร้อน เพราะเขายังมีกำไรอยู่ เขายังจ่ายปันผลให้เราอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องทำอะไร

การรับมือของนักลงทุนต้องวิเคราะห์ตามความเป็นจริงว่ามันมีผลจริงๆ หรือเปล่า ข่าวที่มันออกมาทุกนาทีทำให้เรารู้สึกว่าเราถูกกระทบ แต่ข้อเท็จจริงประมาณ 95%-99% ไม่ได้ถูกกระทบเลย มันอาจจะมีบางบริษัทเท่านั้นที่ถูกกระทบ เช่น บางธนาคารที่ไปซื้อตราสาร CBO ที่บอกว่าขาดทุน มันมีอยู่น้อยมากที่ถูกกระทบ มันเป็นผลทางจิตวิทยาผลจริงๆ อาจจะเกิด 1 ใน 100 แต่ถ้าบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ไม่ได้เป็น 1 ใน 100 นั้นเราไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในโลกนี้มันไม่ได้กระทบกับเราเท่าไหร่หรอก เราดูนะครับไม่ใช่ไม่ดู และเมื่อดูเสร็จแล้วเราก็บอกว่ามันไม่ถูกกระทบเราเฉยๆ แต่ถ้ามันกระทบเราก็ต้องยอมรับว่ามันกระทบ แต่ก็แค่นั้น ผมจึงบอกว่าส่วนใหญ่เวลาเกิดเรื่องแม้กระทั่งเรื่องร้ายแรงผมก็เฉยๆ เพราะว่าผมไม่ได้ลงทุนในบริษัทที่ถูกกระทบ ถ้ากระทบเราก็ต้องตัดสินใจว่าเราจะยังถือหุ้นอยู่หรือเปล่าหรือว่าจะขาย

dooqo : อยากทราบมุมมองของคุณว่าความมั่งคั่งคือจุดใด แล้วคิดว่าปริมาณเท่าไหร่จึงถือว่าเป็นความมั่งคั่ง

เรื่องความมั่งคั่งเป็นเรื่องส่วนบุคคลแต่ละคนว่าเท่าไหร่ถึงมั่งคั่ง บางคนร้อยล้านก็มั่งคั่ง บางคนสิบล้านก็มั่งคั่ง บางคนพันล้าน (เน้นเสียง) ถึงจะมั่งคั่ง ผมคิดว่าความมั่งคั่งแปลว่าเราสามารถที่จะอยู่ได้จากดอกผลจากเงินที่เรามี ฉะนั้นถ้าเราอยู่ได้โดยที่เราไม่ต้องไปถอนเงินต้นมาใช้สำหรับผมเรียกว่าเป็น “ความมั่งคั่งระดับต้น” หรือบางทีเรียกว่า “มีอิสรภาพทางการเงิน” อิสรภาพทางการเงินแปลว่าไม่ต้องทำงาน อาศัยดอกผลกินได้ ซึ่งง่ายๆ ที่ผมเคยพูดไว้คือคุณต้องมีเงินเป็น 200 เท่าของรายจ่ายประจำเดือน สมมติว่าเราต้องใช้เงินเดือนละ 10,000 ก็ต้องมี 2 ล้าน ถ้าคุณต้องการมีรายได้เดือนละ 1 แสนก็ต้องมีประมาณ 20 ล้าน ถ้าคุณมีเงิน 20 ล้านโดยเฉลี่ยทั่วๆ ไปคุณจะมีเงินใช้เดือนละ 1 แสนโดยประมาณนะครับโดยที่เงินต้นยังอยู่ครบ เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปผมคิดว่าถ้าในเมืองไทยตอนนี้คนที่มีรายได้ใช้เดือนละ 1 แสนนี่คือคนชั้นกลางค่อนข้างใช้ได้แล้ว

สรุปก็คือว่าในความคิดผม ถ้ามีเงิน 20 ล้านวันนี้ต้องถือว่าเริ่มมีความมั่งคั่ง นี่คือความมั่งคั่งเฉยๆ ถ้าเป็นเศรษฐีอีกเรื่องหนึ่งแล้ว ถ้าเป็นคนรวยอีกเรื่องหนึ่ง แต่ 20 ล้านไม่ใช่คนรวย

dooqo : เริ่มลงทุนในตลาดทุนเมื่อไหร่ถึงเรียกว่าช้า

ไม่มีคำว่าช้าครับ เพราะว่าเดี๋ยวนี้คนเราอายุยืนขึ้นเยอะ ถ้าเราคิดว่าเราแก่แล้วไม่อยากจะไปลงทุนหุ้นแล้ว ก็อาจจะเป็นการคิดที่ผิด เพราะเราไม่ตายสักที และเรายังใช้เงินที่มีอยู่อย่างไม่พอใจ

dooqo : อะไรที่เป็นปัจจัยที่พัฒนาตลาดทุนไทยไปในแนวทางที่ดีขึ้น

การให้ความรู้กับนักลงทุน ให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป และอาจจะมีการส่งเสริมบ้าง ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็ส่งเสริมพอสมควร นี่คือการพัฒนาตลาดระยะยาวได้จริงๆ

dooqo : ที่ผ่านมาคุณทำกำไรจากหุ้นมาได้ดีเป็นอย่างยิ่ง คิดว่าชีวิตเปลี่ยนไปแค่ไหนจากตอนก่อนที่จะลงทุนในตลาดทุน

ถ้าถามว่าวันนี้เรามีสตางค์ไหมก็ต้องบอกว่ามี แล้วสิ่งที่มีทั้งหมดมาจากหุ้น มาจากการลงทุน จากคนที่ในปี 2540 แทบจะเรียกได้ว่าต้องต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด เพราะว่าเราจะตกงาน มีเงินก้อนหนึ่งต้องเลือกว่าจะทำอย่างไร แต่ตอนนี้ก็ต้องถือว่ามีสตางค์ ชีวิตดีขึ้นแน่นอน แต่ว่าโดยส่วนตัวแล้วไม่ได้ใช้เงินตรงนั้น ยังใช้ชีวิตตามปรกติเหมือนกับเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ยังเป็นลูกจ้าง บ้านก็ยังเหมือนเดิมคือไม่มี รถยนต์เหมือนเดิมคือไม่มี ไม่มีทรัพย์สมบัติอื่นนะครับ การใช้จ่ายโดยส่วนตัวก็ยังทำเหมือนเดิม เคยไปต่างประเทศทุกปี สมัยก่อนก็ไปเดี๋ยวนี้ก็ไป อาจจะเป็นเพราะว่าเราชินกับการใช้ชีวิตแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก

dooqo : เหมือนกับ Value Investor คนอื่นๆ ไหมที่เน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่าแบรนด์หรือมูลค่า

ก็มีส่วนนะครับ เพราะว่า Value Investor อย่างที่ผมบอกมันไม่ใช่เรื่องของการลงทุนอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตด้วย คนที่มีแนวโน้มที่จะเป็น Value Investor เท่าที่สังเกตดูอย่างวอร์เรน บัฟเฟต์ หรือคนอื่นก็ดีโดยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่ค่อนข้าง 1.ประหยัด 2.ใช้ของคุ้มค่าและไม่ฟุ้งเฟ้อ ทำอะไรค่อนข้างจะมีเหตุผล นิสัยแบบนี้ก็ทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็น Value Investor มากกว่าคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง แล้วพอเป็น Value Investor เวลาลงทุนจนรวยแล้ว อย่างวอร์เรน บัฟเฟต์ รวยเป็นอันดับหนึ่งของโลกแต่ก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม บ้าน 30 ปีที่แล้วก็ยังเป็นบ้านเดิม รถก็ยังเป็นคันเก่า ขับรถเองไม่มีเลขา ทำอะไรเอง กินแฮมเบอร์เกอร์ โค้กกระป๋อง ของพวกนี้เรารู้สึกว่าเงินมันไม่ได้เปลี่ยนชีวิตเรา มีเงินมากขึ้นดีแน่นอน ทำให้เราอุ่นใจ ทำให้เรารู้สึกดี มีคนยอมรับมากขึ้น แต่ทำให้เรารู้สึกว่าความสุขนั้นส่วนใหญ่มันไม่ได้เกี่ยวกับเงิน เงินจำนวนหนึ่งเท่านั้นเองที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการดำรงชีวิตที่สุขสบาย เงินที่มากกว่านั้นมันซื้อความสุขเพิ่มแทบจะไม่ได้เลยนะ ถ้าได้ก็น้อยมาก เพราะฉะนั้นพอรวยแล้วส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทุ่มเทไปกับการเอาเงินนั้นไปใช้ซื้อความสุข แต่ความสุขหลังจากที่รวยมันมาจากจิตใจแล้วละ ว่ามันรู้สึกว่าดี เราสบาย มีความมั่นคง

dooqo: ตอนนี้คุณทำรายการอะไรอยู่บ้างทั้งโทรทัศน์และวิทยุ รวมไปถึงการเขียนหนังสือ

รายการที่ผมทำตอนนี้ก็มีทีวีที่ Money Channel ชื่อรายการ Money Talk ออกเกือบทุกวันตอนสี่ทุ่ม ส่วนวิทยุก็มีที่คลื่น 96.5 ออกอากาศทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ สิบโมงเช้า เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจทุกวันอังคาร นอกจากนี้ก็มีสอนหนังสือแต่ก็ไม่ได้เต็มเวลานะครับ สอนเป็นครั้งคราวไป แต่การเป็นผู้บรรยายนี่ก็เยอะมาก ที่เหลือก็มีอีกจิปาถะ แต่ส่วนใหญ่ตอนนี้ใช้ชีวิตแบบเผยแพร่ความรู้ ไม่ทำอย่างอื่น ออกจากงานประจำมาหลายปี ตอนนี้ทำงานอย่างมีความสุข ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ไม่ได้ทำเพราะเงิน

dooqo : สิ่งที่คุณทำในตอนนี้ก็เยอะแยะ แบ่งเวลาดูแลชีวิตตัวเองและครอบครัวอย่างไร

ผมมีลูกคนเดียว เขาเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ทุกวันนี้ทุกอย่างไม่มีตัวไหนที่จะใหญ่ที่สุด ถ้าจะใหญ่ที่สุดคือตีกอล์ฟและจ๊อกกิ้งที่ใช้เวลามากที่สุด เวลานี้ผมคิดว่าสุขภาพสำคัญที่สุดอันดับหนึ่ง ถ้าชีวิตเรายืนยาวขึ้นและมีคุณภาพขึ้น สิ่งนี้หาซื้อไม่ได้ และในการลงทุนนั้นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือเวลา ยิ่งมีเวลามากเท่าไหร่คุณก็จะรวยมากขึ้นเท่านั้น เพราะการลงทุนมันใช้เวลา ปีหนึ่งๆ ถ้าอายุยืนขึ้นมาก็จะได้ผลตอบแทนอย่างน้อยอีกสัก 10% ถ้ามีเวลาต่อไปก็งอกเงยออกมาอีกมาก


จาก http://www.dooqo.com/dooqo_page.php?sub_id=475

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น