วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

จาก 'เสื้อกาวน์' สู่ 'เซียนหุ้นวีไอ'

จาก 'เสื้อกาวน์' สู่ 'เซียนหุ้นวีไอ' 'น.พ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ'


เปิดตัวคุณหมอนักลงทุน 'น.พ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ' ผู้มุ่งมั่นออกเดินทางเพื่อค้นหา Financial Freedom จากแพทย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักด์ ก้าวสู่เซียนหุ้นวีไอชั้นแนวหน้า

ใครๆ ก็มีฝันอยากมีอิสระในการเลือกใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ ภายใต้สภาวะความมั่นคงทางการเงิน หนึ่งในนั้น "หมอมุข" น.พ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ อดีตหมอสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักด์ มุ่งมั่นออกเดินทางเพื่อค้นหาความหมาย Financial Freedom ความคิดนี้วนเวียนอยู่ในสมองของเขา! หลังเล่นหุ้นแบบไม่มีหลักการมานานหลายปี..ปัจจุบันนายแพทย์ประมุขในวัย 43 ปี ค้นพบปลายทางของจุดหมาย "อิสรภาพทางการเงิน" อยู่บนถนนสายตลาดหุ้นที่เขาเลือกเดิน!!

ไม่เพียงเขาเป็นหนึ่งในเซียนหุ้นวีไอชั้นแนวหน้าเท่านั้น น.พ.ประมุขยังมีบทบาทเป็นอุปนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เจ้าของล็อกอิน Paul vi ในเว็บไซต์ "ไทยวีไอ" ที่สมาชิกรู้จักดี หมอมุขมี รอยยิ้มเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว มีประวัติการเรียนดีมาตลอด
เขาจบมัธยมต้นที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒปทุมวัน จบมัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนจะตีตั๋วเข้าเป็นนักศึกษาแพทย์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล รุ่นที่ 98 รุ่นเดียวกับ น.พ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์โรงพยาบาลวิภาวดี ผู้พัฒนาเว็บไซต์www.thaiclinic.com รวมถึง น.พ.สมพงษ์ พัฒนกิจไพโรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพานน้อย เจ้าของรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี 2553

หลังเรียนจบหมอหนุ่มเลือกไปประจำที่โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักด์ แถวหนองแขม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลให้อยู่แผนกสูติ-นรีเวช ส่วนภรรยาที่เรียนแพทย์มาด้วยกันประจำอยู่แผนกเด็ก เขาทำงานเพียง 3 ปี ก็ลาออกไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เป็นเวลา 3 ปี ส่วนภรรยาก็ลาออกไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี
คุณหมอนักลงทุนย้อนประวัติการการศึกษาให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า เหตุผลที่เลือกเรียนคณะสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เป็นวิชาที่รวมทั้งการผ่าตัดและยาเข้าด้วยกัน ไม่ได้เน้นด้านใดด้านหนึ่ง แตกต่างจากภาควิชาอายุกรรม หรือภาคอายุศาสตร์ที่จะมีความเป็นวิชาการสูงมาก
"ช่วงหนึ่งผมเคยชื่นชอบภาควิชา หู คอ จมูก เป็นวิชาที่มีความถนัดมากที่สุด เรียนแพทย์เคยได้เหรียญทองแดง 3 วิชา (เหรียญทองแดงเป็นเหรียญที่มีคะแนนสอบสูงสุด) แบ่งเป็นสาขาวิชาพยาธิวิทยาคลินิก เหรียญนี้ได้ตอนเรียนปี 3 และภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา (หู คอ จมูก) ได้ตอนเรียนปี 5 และสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน (การป้องกันโรค และป้องกันการบาดเจ็บ) ได้ช่วงเรียนปี 6"

หลังจบแพทย์เฉพาะทาง น.พ.ประมุข ไปทำงานที่โรงพยาบาลกลาง แผนกสูติ-นรีเวช ทำได้เพียงครึ่งปี ก็ถูกส่งตัวไปช่วยงานที่โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักด์ ส่วนภรรยาแยกไปทำงานที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ก่อนจะกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ เพราะโรงพยาบาลขาดแคลนแพทย์ ทำได้ 3 ปี ก็ลาออกมาเปิดคลีนิคในต่างจังหวัดเกี่ยวกับสูติ-นรีเวช
"ผมเปิดคลีนิคมาแล้ว 18 ปี (ไม่บอกชื่อคลีนิค) ส่วนภรรยาก็ทำงานในโรงพยาบาลประมาณ 10 ปี ก่อนจะลาออกมาเปิดคลีนิคส่วนตัวเกี่ยวกับหมอเด็ก เปิดมาแล้ว 6-7 ปี คลีนิคของเรา 2 คน อยู่ห่างกันไม่มาก เหตุผลที่ลาออกเพราะอยากเป็น "นายตัวเอง" ช่วงที่ออกมาเปิดคลีนิคส่วนตัวก็รับเป็นที่ปรึกษาตามโรงพยาบาลเอกชน 2-3 แห่ง สัปดาห์ละ 1 วัน ทำงานวันละ 4 ชั่วโมง ตอนนี้ไม่ได้รับงานเป็นที่ปรึกษาแล้ว"
สำหรับจุดเริ่มต้นที่ก้าวเข้ามาในตลาดหุ้น คุณหมอ เล่าว่า สนใจมาตั้งแต่ปี 2534 ช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย สมัยยังเป็นนักศึกษาแพทย์ก็คิดแล้วว่าอยากทำงานอิสระ ไม่อยากมีเจ้านาย มีเงินสักก้อนอยากลงทุนทำเงินให้งอกเงยตอนนั้นก็มองไว้หลายอย่าง..สุดท้ายมองว่าลงทุนในตลาดหุ้นน่าจะตอบโจทย์ได้ทั้งหมด
"ช่วงนั้นผมเริ่มไปหาหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการลงทุนมาอ่าน ยังไม่มีพ็อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับการลงทุนให้อ่านมากเหมือนสมัยนี้ บางครั้งก็อาศัยถามรุ่นพี่ ถามเพื่อนที่เขาลงทุนอยู่แล้ว จำได้ว่าเคยถามเพื่อนว่าตัวเลขสีเขียวๆ แดงๆ ที่วิ่งอยู่ตามหน้าจอโทรทัศน์มันคืออะไร..ผมศึกษาข้อมูลต่างๆ จนคิดว่ารู้แน่นปึก หลังจบออกมาทำงานเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งก็ไปเปิดพอร์ตลงทุนจำได้ว่าปี 2535 ทุนเริ่มต้น "หลักหมื่นบาท" ช่วงนั้นยังเล่นหุ้นแบบไม่มีข้อมูล ซื้อหุ้นตามสตอรี่ และไม่สนใจดูงบการเงิน เน้นลงทุนระยะสั้น 3 วัน 7 วัน นานสุด 1 เดือน"
ประสบการณ์เล่นหุ้นช่วงแรกกำไรครั้งละ 5-10% สูงสุด 20% บางตัวเคยกำไรสูงถึง 80-90% แต่มาเสียหนักตรงที่ยึดนโยบาย ไม่ขาย ไม่ขาดทุน” (หัวเราะ) เคยขาดทุนวอร์แรนท์ตัวหนึ่งถือไว้นานจนราคาหุ้นแทบจะกลายเป็น "ศูนย์"
"ครั้งหนึ่งผมเคยขาดทุนหุ้น บงล.เอกชาติ ตอนนั้นเจ็บใจมากซื้อมาหมื่นกว่าหุ้น มาร์เก็ตติ้งบอกหุ้นตัวนี้ดีมาก ตอนแรกๆ ราคาขึ้นมา ก็คิดว่าน่าจะสูงกว่านี้ พอหุ้นลงก็คิดอีกว่าเดี๋ยวมันขึ้นมาใหม่ สุดท้ายราคาก็ลงเรื่อยๆ จนทำให้จำนวนเงินในพอร์ตหายไปประมาณ 80-90%"
บทเรียนการขาดทุนครั้งนั้นทำให้ น.พ.ประมุข มีความคิดว่าการลงทุนในหุ้นเหมือน "เล่นพนัน" ดีๆ นี่เอง ลงทุนแบบไร้ทิศทางอยู่ 2-3 ปี ก็ "ถอยออกมา" ช่วงนั้นต้องออกมาเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง แต่ก็มีซื้อหุ้นปันผลและเก็บหุ้นที่ขาดทุนติดพอร์ตไว้ 2-3 ตัว จากปกติจะถือประมาณ 20 ตัว
ทุกครั้งที่นึกย้อนกลับไปในช่วงที่เลิกลงทุน ผมถือว่าเป็นคนที่ โชคดีมาก" (ลากเสียงยาว) เพราะช่วงนั้นเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ถ้าขืนลงทุนอยู่ต่อชีวิตผมคงต้องเดือดร้อนแน่นอน"
หลังเรียนจบแพทย์เฉพาะทางปี 2541 หมอหนุ่มก็ยังไม่คิดจะกลับมาลงทุน ช่วงนั้นตลาดหุ้นซึมๆ ซื้อขายวันละ 1,000-2,000 ล้านบาท โบรกเกอร์ถึงขนาดนั่งตบยุง ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าการที่ตลาดหุ้นเป็นแบบนี้มันเหมาะมากที่จะหาซื้อหุ้นดีๆ เป็นอย่างยิ่ง!!! กว่าที่เขาจะกลับมามองตลาดหุ้นอีกครั้งก็ปี 2544
การกลับมาครั้งนี้ น.พ.ประมุข พัฒนาตัวเองโดยหาหนังสือแนวธุรกิจและการลงทุนมาอ่าน เล่มหนึ่ง "พ่อรวยสอนลูก" ของโรเบิร์ต คิโยซากิ ที่สอนว่าเงินมี 4 แบบ คือ 1.E (Employee) เงินเดือนที่ได้จากการทำงานให้กับกิจการที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ ข้อนี้..ผมไม่ชอบ ข้อ 2. S (Self-Employed) กิจการส่วนตัวหรือเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ข้อ 3. B (Business Owner) เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่หรือเจ้าของบริษัท สุดท้าย คือ I (Investor) นักลงทุน
ในหนังสือเขาจะแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ซ้ายมือ จะเป็น E กับ S เป็นด้านที่อยู่ในวนเวียนของกับดักหนู คือ ไม่มีทางได้พบอิสระทางการเงิน ส่วนขวามือ คือ B กับ I หลายคนทำอยู่ด้วยการให้เงินเป็นคนทำงาน ซึ่งข้อ 4 “ถูกใจผมมากที่สุด และช่วงนั้นเป็น แฟนคลับของ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร ผู้ก่อตั้งชมรมคนออมเงิน ซื้อหนังสือของอาจารย์มาอ่านเกือบทุกเล่ม และก็เป็นแฟนคลับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เพราะทันทีที่อาจารย์ออกหนังสือ ตีแตกก็ซื้อมาอ่าน..อ่านจบก็ปิ๊งๆๆ เลย
ก่อนจะหันมาลงทุนแนว VI ช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลง น.พ.ประมุข ยังคงลงทุนระยะสั้นเหมือนเดิม เพียงแต่จะมีหลักการมากขึ้น โดยเริ่มวิเคราะห์กิจการและแนวโน้มธุรกิจ หลังวิกฤติปี 2540 เริ่มจะมองออกว่าธุรกิจอะไรจะ รุ่งได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนตัวโดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับส่งออกดีมาก ช่วงนั้นบอกตรงๆ งบการเงินไม่ดูเลยไม่รู้เรื่อง เป็น ไม้เบื้อไม้เมาอ่านทีไรหลับทุกที (หัวเราะ)
"แม้ไม่ค่อยสนใจงบการเงิน แต่ผมก็ได้กำไรเกือบทุกตัว ส่วนใหญ่เล่นหุ้น "พิมพ์นิยม" กลุ่มแบงก์ และพลังงาน ฯลฯ เอากำไรไม่มาก 10-20% ตอนนั้นเริ่มมีหลักกการ จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวไปตามตลาด เชื่อหรือไม่! ผมไม่ขาดทุนเลย เล่นหลักการแบบนี้จนถึงปี 2547 วันหนึ่งผมกลับมานอนคิดว่า ถ้าเรายังลงทุนแบบนี้ต่อไป ก็คงไม่ต่างอะไรจากการซื้อมาขายไป ไม่ใช่นักลงทุนที่แท้จริง สุดท้ายจะมีอิสระภาพทางการเงินได้อย่างไร ทำให้ต้องกลับมาค้นหาเส้นทางสู่ Financial Freedom ใหม่อีกครั้ง"
น.พ.ประมุข เริ่มมาดูเรื่องการลงทุนใหม่ๆ เช่น อสังหาริมรัพย์ และหุ้นกู้ สุดท้ายก็รู้ว่าตัวเองไม่ถนัดอสังหาริมทรัพย์ เป็นคนหน้าบางทวงเงินใครไม่เป็น และไม่ใช่นักต่อรอง จึงหันไปลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 3-5% ของพอร์ต เพื่อกระจายความเสี่ยง เลือกลงทุน 3 กองทุนที่จ่ายเงินปันผลทุกไตรมาส ถึงปัจจุบันได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% โดยไม่เคยนำเงินปันผลมาใช้ มีแต่นำไป "ทบต้น"
นอกจากนี้ เมื่ออยากเจอกับคำว่า อิสระทางการเงินก็เป็นแฟนคอลัมน์ Value Way ในน.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ BizWeek เขียนโดย วิบูลย์ พึงประเสริฐ และ มนตรี นิพิฐวิทยา ที่เอามาลงในเว็บไซต์ พออ่านแล้วรู้สึก ตรงใจยิ่งได้มาอ่านหนังสือ ตีแตกยิ่งตอกย้ำเลยว่า "ใช่"
ช่วงแรกๆ หมอแทบ "ถอดใจ" ในเว็บไซต์พูดถึงแต่เรื่องงบการเงินที่ตัวเองไม่ถนัด ไม่รู้เรื่องเลย แต่โชคดีมีเพื่อนนักลงทุนคอยให้กำลังใจตลอด ทุกคนพูดว่า มาใหม่ๆ ก็เป็นแบบนี้แหละจึงตัดสินใจ ฮึดใหม่อีกครั้ง คราวนี้ไปหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับงบการเงินและวิเคราะห์ธุรกิจมาอ่านหลายเล่มมาก มีหนังสือของ ดร.นิเวศน์ 3-4 เล่ม กวาดมาหมด หนังสือ One Up On Wall Street ของ ปีเตอร์ ลินช์ และหนังสือแนวคิดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ หนังสือที่แปลโดย พรชัย รัตนนนทชัยสุข หน้า 400-500 หน้า อ่านจบภายในระยะเวลาไม่นาน พออ่านมากๆ ทำให้รู้ถึงแก่นแท้ของแนวทางวีไอมากขึ้น

คุณหมอ บอกว่า หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนแนว VI จะสอนให้เราดูตัวเลขการเงินสำคัญๆ ไม่จำเป็นต้องดูทุกตัว แรกๆ จะสอนให้เราดูง่ายๆ ก่อน เช่น อัตราส่วนราคาหุ้นและกำไรต่อหุ้น (P/E) รวมถึงอัตราส่วนราคาหุ้นกับมูลค่าทางบัญชีของบริษัท (P/BV) และอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) เมื่อเริ่มยากขึ้นเขาจะสอนให้ดูอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) และอัตราส่วนราคาต่อผลกำไรสุทธิต่อหุ้นเทียบกับการเพิ่มของผลกำไร (PEG Ratio)
"เมื่ออ่านจบทำให้ผมรู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องเก่งตัวเลขทางการเงินทุกตัว การเป็นนักลงทุนแนว VI ที่ดี ไม่จำเป็นต้องเก่งบัญชี แต่ให้เน้นมองภาพใหญ่ของธุรกิจให้ออก อาจารย์นิเวศน์ยังเคยบอกว่า ตัวเขาก็ไม่ได้ดูงบการเงินเป็นทุกตัว เน้นดูแนวโน้มธุรกิจ"
เรื่องราวของ น.พ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ ยังไม่จบ!!! สัปดาห์หน้าตามต่อ "เทคนิคการลงทุน" เขามีกลยุทธ์อย่างไรจึงค้นพบ Financial Freedom โดยเฉพาะในปี 2554 มีกำไรจากการลงทุนสูงถึง 75%

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 21 สิงหาคม 2555
http://bit.ly/MO9Oc6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น