วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556

หุ้นตัวเรา



หุ้นกับคน มีอะไรเหมือนกันอยู่มาก ที่จริงบริษัทก็คือองค์กร ที่ประกอบไปด้วยคนหลายคนมารวมกันเพื่อทำธุรกิจ บริษัทเล็กอาจมีคนไม่กี่คน
บริษัทเล็กที่สุดอาจจะมีเพียงคนเดียว และคนคนหนึ่ง อาจจะเหมือนกับบริษัทเล็กที่สุดที่ "ดำเนินธุรกิจ" และมีรายได้ และมีค่าใช้จ่าย บริษัทที่มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย ก็คือบริษัทที่มีกำไร ซึ่งในที่สุดก็จ่ายปันผลที่เป็นเงินสด ให้กับเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น คนที่มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายที่ "จำเป็น" ในชีวิตประจำวันก็จะมีเงินเหลือ ซึ่งอาจจะถือว่าเป็น "กำไร" ที่ในที่สุดเจ้าตัวก็เอาไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้ เหมือนกับ"ปันผล" ให้ตัวเอง ดังนั้นบริษัทหรือคนก็เหมือนกันตรงที่ต่างก็สามารถสร้างเงินสดให้กับเจ้าของได้เรื่อยๆ
บริษัทหรือหุ้นที่มีกำไร และจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนาน และเพิ่มหรือโตขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นหุ้นที่ดีเติบโตและจะมีคุณค่ามาก เราสามารถคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงได้ เช่น ถ้ากำไรปีละ 1 บาทต่อหุ้น เราอาจบอกว่ามีค่าหุ้นละ 25 บาท หรือเรียกว่ามีค่า PE 25 เท่า ถ้าคนๆ หนึ่ง มีรายได้หลังหักค่ากินอยู่ และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิตแล้ว เขามีเงินเหลือปีละหนึ่งแสนบาท เราอาจตีว่าคนๆ นี้มีมูลค่าคิดเป็นเงิน 2.5 ล้านบาท ถ้าเราให้ค่า PE เขาเท่ากับ 25 เท่า แต่มูลค่านี้ไม่สามารถซื้อขายได้ เพราะคนไม่สามารถซื้อขายได้ คนที่เป็นเจ้าของคนๆ นี้ ก็คือตัวเขาเอง และไม่สามารถเอาไปขายให้ใครได้
ความจริงที่ว่า ตัวเราเหมือนกับทรัพย์สินที่สร้างรายได้ และที่จริงสามารถคำนวณได้ว่ามีค่าเท่าไร ทำให้คิดว่าการวางแผนทางการเงินที่นักวิชาการ หรือนักวางแผนทางการเงินกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เหตุผลเพราะว่าเราทุกคนจะมี "หุ้น" อีกตัวหนึ่ง ที่ติดอยู่กับตัวเราเสมอ และขายไม่ได้ หุ้นตัวนี้อาจมีค่ามากเมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่น หรือทรัพย์สินอย่างอื่น อาจมีค่าคิดเป็นเม็ดเงิน หรือความมั่งคั่งมากมหาศาล หรืออาจมีค่าไม่มาก เมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่น เราอาจจะไม่รู้ เพราะไม่เคยคิดถึงเลย
บางทีเราอาจไม่ตระหนักว่ามีอยู่ หรือแม้แต่ว่าเรารู้แล้วว่าเรามี "หุ้นตัวเรา" อยู่ เพราะเราอ่านบทความนี้ แต่ก็เป็นหุ้นที่ไม่มีราคาซื้อขาย สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ลองคิดว่ามูลค่า "หุ้นตัวเรา" เท่ากับเท่าไร แล้วเราจะทำอะไรกับมัน เราจะ"จัดพอร์ต" หุ้นตัวอื่นหรือทรัพย์สินอื่นอย่างไร?
 
ก่อนที่จะพูดถึงการจัดพอร์ตหรือการลงทุนหุ้นตัวอื่น อยากพูดถึง "หุ้นตัวเรา" ก่อน หุ้นตัวเรา มีลักษณะหรือพฤติกรรมคล้ายๆ หุ้นทั่วไป ในแง่ที่ว่า อาจจัดกลุ่มตามคุณลักษณะของการทำรายได้ หรือกำไรเป็น 6 กลุ่มแบบปีเตอร์ลินช์ คือ บางคนอาจมีรายได้สม่ำเสมอ แต่เพิ่มขึ้นช้าๆ เช่น พนักงานกินเงินเดือนที่ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น พวกเขาอยู่ที่เดิมมานานและไม่อยาก "เสี่ยง" คิดหรือทำอะไรใหม่ๆ แบบนี้เรียกว่าเป็น "หุ้นโตช้า"
คนกลุ่มที่สองคือ คนอายุยังน้อยที่มีความรู้และความสามารถสูง ทำงานขยันขันแข็ง และกำลังก้าวหน้าในงานที่ทำรวดเร็ว และในที่สุดก็กลายเป็นผู้บริหาร หรือผู้เชี่ยวชาญที่จะทำเงิน หรือมีเงินเดือนสูงมากขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้เรียกว่า "หุ้นเติบโต" คนกลุ่มที่สามคือคนที่อาจก้าวหน้าไปถึงจุดสูงสุดในชีวิต "ลูกจ้าง" ของเขาแล้ว พวกเขาเป็นที่ยอมรับของนายจ้าง มีเงินเดือนที่ดี มีความมั่นคงในหน้าที่การงานสูง แต่การก้าวหน้ามากขึ้นรวดเร็วเป็นไปไม่ได้แล้ว แบบนี้เรียกว่า "หุ้นแข็งแกร่ง"
คนกลุ่มที่ทำงานอิสระ เช่น อาจเป็นดารานักแสดง นักเขียน ขายประกัน เป็นฟรีแล้นซ์ หรือผู้รับเหมาก่อสร้าง มักจะมีรายได้ไม่แน่นอน ขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้อาจเรียกว่าเป็น "หุ้นวัฏจักร" คนบางคนอาจอยู่ในช่วงที่กำลัง "ตกต่ำ" เพราะป่วยไข้ ความนิยมตก มีปัญหาที่ทำให้รายได้หดหายไป แต่จะฟื้นตัวและกลับมามีรายได้ใหม่ แบบนี้เรียกว่า "หุ้นฟื้นตัว" สุดท้ายคือ คนที่มีทรัพย์สินมาก แต่ยังไม่ได้ใช้ หรือยังใช้ไม่ได้ เช่น พ่อแม่มีทรัพย์สมบัติมาก แบบนี้อาจจะเรียกว่า "หุ้นมีทรัพย์สินมาก" และทั้งหมดนี้คือ การวิเคราะห์ว่า "หุ้นตัวเรา" เป็นหุ้นแบบไหน
เราเป็นเจ้าของและผู้บริหาร "หุ้นตัวเรา" เราสามารถจะจัดการ "กิจการ" ให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ในระดับหนึ่ง เราสามารถ เพิ่มคุณค่าหรือมูลค่าให้กับหุ้นตัวเรา ว่าที่จริง หลายๆ กรณี อาจเป็นเรื่องดีกว่าที่เราจะให้เวลา หรือใช้เวลาในการ "ปรับปรุง" หุ้นตัวเรา แทนที่จะใช้เวลาไปหาหุ้นตัวอื่นที่เราคิดว่ามีคุณค่ามาก การทำให้หุ้นตัวเรามี "ความสามารถแข่งขันสูงขึ้น" ผมคิดว่าจะเป็นการสร้าง VALUE ที่สูงกว่าการใช้เวลาในการเลือกหุ้นตัวอื่นๆ โดยเฉพาะช่วงที่เรายังมีอายุน้อย เพราะทำให้รายได้ในอนาคตหุ้นตัวเราสูงขึ้นมาก
การจัดพอร์ตที่เราจะต้องคำนึงถึง "หุ้นตัวเรา" อยู่เสมอ เราจะพบว่า เราทุกคน ไม่มีใครที่ "ไม่มีเงินเลย" หรือพูดให้ถูกต้องขึ้นคือ ไม่มีทรัพย์สมบัติเลย เพราะความเป็นจริงคือ เรามีหุ้นหนึ่งตัวอยู่ในพอร์ตแล้ว คือ "หุ้นตัวเรา" ซึ่งสำหรับหลายๆ คนแล้ว มีค่ามากทีเดียวโดยเฉพาะในช่วงที่เขายังไม่ได้ทำงาน และไม่มีรายได้ หรือเงินจากทางบ้าน หรือเพิ่งจะเริ่มทำงานมีเงินเก็บค่อนข้างน้อย ซึ่งหุ้นตัวเรานี้แหละที่จะเป็น "เรือธง" ที่จะสร้างพอร์ตลงทุนของเราให้เติบโตขึ้นจนเรามี "อิสรภาพทางการเงิน" ในที่สุด ความหมายของผมคือ หุ้นตัวเราจะเป็นหุ้นที่ "จ่ายปันผล" ให้กับเราตลอดเวลาทุกปี ซึ่งเราสามารถนำปันผลที่ว่านั้น มาลงทุนซื้อหุ้นตัวอื่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่บางครั้ง เราก็นำมันมาลงทุนในหุ้นตัวเราเพิ่ม เช่น ใช้เงินไปเรียน MBA เพื่อที่จะกลับมาสร้างรายได้ให้กับตนเองเพิ่มขึ้น
เมื่อเรามีอายุมากขึ้น "หุ้นตัวเรา" ส่วนใหญ่จะมีค่าน้อยลง เมื่อเทียบกับหุ้นตัวอื่นที่เราอาจจะลงทุนไว้มากขึ้นเรื่อยๆ สมมุติว่าเราเกษียณและไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ลงทุนในหุ้นเลย มูลค่าหุ้นตัวเราน่าจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์ เราอาศัยเงินเก็บเลี้ยงตัวเองไปเรื่อยๆ แต่คนที่ยังลงทุนในหุ้น ผมคิดว่ามูลค่าของ "หุ้นตัวเรา" น่าจะมากอยู่ มาจากความสามารถในการลงทุน ที่อาจยังสูงไม่น้อยกว่าสมัยที่ยังหนุ่ม ความสามารถในการลงทุน ช่วยทำให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ถ้าคิดเป็นเม็ดเงิน อาจยังมาก นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ผมเอง ไม่แนะนำให้คนที่อายุมากเกษียณแล้ว ขายหุ้นทิ้งหมด ผมรู้สึกว่านั่นเท่ากับเป็นการทำให้ "หุ้นตัวเรา" หมดค่าไปด้วย
เป็นหน้าที่ของคนทุกคนที่จะต้องเข้าใจเรื่อง "หุ้นตัวเรา" เขาจะต้องรู้จักการจัดการและประเมินว่า ต้องลงทุนจัดพอร์ตอย่างไร โดยคำนึงถึงหุ้นตัวเราว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากของพอร์ตลงทุนเสมอ บางช่วงเวลา เขาอาจต้องคิดถึงการประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต เพื่อให้มั่นใจว่าหุ้นตัวสำคัญของเขา ยังมีค่าอยู่ในยามที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน คนบางคนที่คิดจะลาออกจากงานมาลงทุนอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงว่า จะเป็นการทำลายมูลค่าของ "หุ้นตัวเรา" หรือไม่แม้ว่าการลงทุนเต็มเวลาอาจจะให้ผลตอบแทนการลงทุนดีขึ้น แต่นั่นก็ไม่แน่เสมอไป คิดแล้วเป็นเม็ดเงินเท่าไร? คุ้มหรือไม่? บางที เราอาจจะต้องคำนึงถึงพอร์ตโดยรวมที่รวม "หุ้นตัวเรา" ที่เราประเมินมูลค่าไว้แล้ว เพื่อที่จะดูว่า ตกลงเราจะตัดสินใจอย่างไร มองในฐานะของ VI

โดย : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
วันที่ 25 ธันวาคม 2555
http://bit.ly/UirLRZ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น