วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทิ้งรายได้เดือนละ 2แสนบาทสู่เส้นทาง 'วีไอ'ภาสุชา อุตรวณิช




มีเงินสดไหลเข้าบริษัทเดือนละกว่า 200,000 บาท แต่ 'ภาสุชา อุตรวณิช' ก็เลือกปิดธุรกิจขนส่งก้าวสู่เส้นทาง 'วีไอ' รับเหมาดูแลพอร์ตของคนทั้งบ้าน

หนึ่งในเซียนหุ้นรุ่นใหม่ ภาภาสุชา อุตรวณิช คุณแม่ยังสาววัย 34 ปี อดีตเจ้าของธุรกิจขนส่ง มีเงินสดไหลเข้าบริษัทเดือนละกว่า 200,000 บาท แต่ภา เลือกที่จะปิดธุรกิจส่วนตัว เพื่อออกมาลงทุนในตลาดหุ้นแนว Value Investor (วีไอ) ภายใต้พอร์ตของสามี ก่อนจะมาเปิดพอร์ตเป็นของตัวเอง และเธอยังรับหน้าที่ดูแลหุ้นค้าปลีกจำนวน 100 หุ้น ที่ลูกสาววัย 7 ขวบ ตัดสินใจทุบกระปุกออมสินนำเงินเก็บ 1,000 บาท บวกกับเงินเติมให้ของพ่อแม่มาลงทุน จนสามารถสร้างผลตอบแทน 100% ภายในระยะ 1 ปี ได้สำเร็จ

ภา ยึดแนวทางการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม หวังผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 15% ที่ผ่านมาพอร์ตการลงทุนเติบโตอย่างน่าพอใจ ขณะเดียวกัน เธอพยายามปลูกฝังลูกสาวให้รักการอ่านหนังสือ และออมเงิน ด้วยการหยอดกระปุกวันละ 1 บาท หรือมากกว่านั้น ทุกวันสาวน้อยของเธอจะเหลือเงินค่าขนมกลับบ้านวันละไม่ต่ำกว่า 10 บาท จากเงินค่าขนมวันละ 40 บาท ภาสอนลูกสาววัย 7 ขวบว่า หากเติมเงินลงไปในพอร์ตแล้วเลือกหุ้นดีๆ หนูจะสามารถซื้อตั๋วเครื่องบินไปญี่ปุ่นได้ทันที
"โตขึ้นหนูไม่จำเป็นต้องทำอาชีพนักลงทุนเหมือนแม่ แต่ขอให้รู้จักลงทุน เพราะการออมจะทำให้มีเงินเลี้ยงตัวเองได้ตลอด และหนูจะพบกับคำว่า..อิสระทางการเงิน"

เธอคัดหุ้นมาให้ลูกเลือกพร้อมเหตุผลและลูกสาวก็ตัดสินใจเลือกหุ้น "ค้าปลีก" ด้วยตัวเอง โดยให้เหตุผลว่าห้างสรรพสินค้ามีคนเข้าออกทุกวัน มากพอๆกับโรงพยาบาล ไม่เพียงออมเงินไว้ในตลาดหุ้นเท่านั้น เธอยังมีอีกกระปุกเก็บเงินไว้ซื้อสิ่งของที่อยากได้ โดยมีเหตุผลว่าการลงทุนต้องฝึกฝนกันตั้งแต่เด็กๆ เปรียบเสมือนภาษาอังกฤษที่ต้องบ่มกันตั้งแต่ยังเล็กโตขึ้นถึงจะสบาย

เจ้าของนามแฝง "KIRI" ในเวบไซต์ไทยวีไอ ย้อนประวัติส่วนตัวให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า เรียนจบคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกียรตินิยมอันดับ 2 เมื่อเรียนจบก็ไปฝึกงานเกี่ยวกับการแปลใน บริษัท สยามมิชลิน จากนั้นก็ออกมาเรียนต่อปริญญาโทคณะอักษรศาสตร์ ด้านการแปลวรรณกรรม ระหว่างนั้นก็ไปทำงานในบริษัท อัลคาเทล ผู้รับเหมาติดตั้งระบบเทเลคอม และจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ในตำแหน่งโอเปอร์เรเตอร์ รีเซฟชั่น และแอดมิน ทำงานได้ 1 ปี ก็ตัดสินใจลาออก คู่หมั้นที่เจอกันตอนทำงานในสยามมิชลิน ต้องบินไปทำงานที่ประเทศฝรั่งเศสปีกว่า ภาจึงตัดสินใจแต่งงานตอนอายุ 24 ปี แล้วบินไปด้วยกัน
"ตอนนั้นเศร้ามากที่เรียนไม่จบปริญญาโท ทั้งๆ ที่อีกไม่กี่เดือนก็จะจบแล้ว ช่วงที่อยู่ฝรั่งเศส ด้วยสถานะของวีซ่าไม่สามารถทำงานได้ แต่ไม่อยากอยู่เฉยๆ จึงไปลงเรียนหลักสูตรภาษาฝรั่งเศส สำหรับนักศึกษาต่างประเทศ 4-5 เดือน และกะว่าเมื่อเรียนจบจะไปท่องยุโรปก่อนกลับเมืองไทย สุดท้ายผ่านมา 11 เดือน สามีไม่ชอบใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนอกจึงขอเร่งคอร์สการทำงานเพื่อกลับเมืองไทยเร็วขึ้น"

พอกลับมาเมืองไทย ภาไปทำธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟโบราณ ภายใต้แบรนด์ "อาร์บีคอฟ" เป็นธุรกิจของครอบครัวสามี เขามีโรงงานกาแฟ แถวชลบุรี ทำได้ไม่นานก็เลิก เพราะอยากทำธุรกิจที่ใหญ่กว่านี้ บังเอิญมีโอกาสได้คุยกับคุณอาของสามี เขาทำธุรกิจขนส่งดูน่าสนใจจึงตัดสินใจขายบ้านย่านศรีราชาที่ไม่ได้อยู่อาศัยได้เงินมาล้านกว่าบาท แล้วไปยืมเงินพ่อแม่ของแฟนมาอีก 2 ล้านกว่าบาท เพื่อมาซื้อรถบรรทุก 2 คัน ทำธุรกิจขนส่งสินค้า มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตอนนั้นมีพนักงาน 7 คน
"ธุรกิจประสบความสำเร็จมาก มีเงินสดเข้าบริษัททุกเดือน คิดเป็นรายได้ตก 200,000 กว่าบาทต่อเดือน ตอนนั้นอายุ 27-28 ปี ทำได้เกือบ 2 ปี ก็เลิก เริ่มทำงานยากขึ้นมีคนอยากทำธุรกิจนี้ค่อนข้างมาก บางคนไม่จ้างพนักงานทำเองทั้งหมดทำให้เขามีต้นทุนไม่สูง อีกอย่างเริ่มสนใจการลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว"

เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดหุ้นว่า สามีและเพื่อนๆนักลงทุนชวนไปฟังงานสัมนา ตั้งแต่สมัยที่ มนตรี นิพิฐวิทยา (อดีตคอลัมนิสต์ Value Way) เป็นประธานเวบไซต์ไทยวีไอ ฟังเสร็จรู้สึกประดับใจ มีคนกลุ่มหนึ่งสนใจในสิ่งเดียวกันทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้ทำงานหรือเรียนด้วยกัน แต่เขาเหล่านั้นสามารถนั่งคุยเรื่องเดียวกันได้อย่างออกรสชาติ

ก่อนจะมาฟังงานสัมมนามีโอกาสได้อ่านหนัง ตีแตกของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร อ่านจบรู้สึก..เฮ้ย!! การลงทุนมันเป็นวิธีทำงานอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเก็งกำไร อาจารย์จะสอนวิธีการเลือกหุ้นว่า ต้องเลือกธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และต้องมีความเป็นไปได้จริงๆ ว่าธุรกิจของเขาจะสร้างกำไร ดร.นิเวศน์ ยังสอนให้รู้จักคำว่า Margin of Safety (ส่วนเผื่อความปลอดภัย) สอนวิธีประเมินมูลค่าแบบง่ายๆ ด็อกเตอร์ทำให้ภารู้ว่า..ถึงเราไม่ได้เก่งเลข แต่ถ้าเข้าใจธุรกิจ ก็สามารถพัฒนาตัวเองด้านการลงทุนได้เหมือนกัน

เมื่อเริ่มคุ้นเคยกับการลงทุนมากขึ้น ด้วยการเดินสายไปฟังงานสัมมนาต่างๆ รวมถึงอ่านกระทู้ในห้อง "ร้อยคนร้อยหุ้น" ในเวบไซต์ ไทยวีไอ เรียกว่าหาความรู้ให้มากที่สุด หลังจากนั้น
6 เดือน สามีก็ตัดสินใจลงทุน น่าจะเป็นช่วงสิ้นปี 2549 ซึ่งภาก็ลงทุนร่วมด้วย โดยไปเปิดพอร์ตกับ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) วงเงิน 200,000 บาท นำเงินที่ได้จากการทำธุรกิจขนส่งมาลงทุน
เธอเล่าว่า ช่วงแรกๆ มีหุ้นในพอร์ต 2-3 ตัว ภาเลือกเองจริงๆ หุ้นถ่านหินไซด์เล็ก เพราะเห็นว่าหุ้นพลังงานช่วงนั้นขึ้นมาเยอะมาก หุ้น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เป็นตัวแรกที่สามีภรรยาช่วยกันเลือก เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมาก มูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2551 นอนกินเงินปันผลอย่างเดียวก็สามารถเลี้ยงคนทั้งครอบครัวได้แล้ว

กลยุทธ์หลักๆ เน้นซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการเติบโตปีละ 20% เช่น กลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ และอุตสาหกรรมต่างๆ ฯลฯ ที่เหลือจะดูคุณภาพของหุ้น เช่น ความสามารถในการดำเนินกิจการ รวมถึงดูมาร์จิ้น (กำไรขั้นต้น) ด้วย แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีระดับเท่าไร โดยจะนำมาร์จิ้นของบริษัทที่สนใจไปเทียบกับคู่แข่งว่าทำดีกว่าหรือเปล่า! จากนั้นจะดูพวกค่าใช้จ่ายว่าทำได้ดีหรือไม่ และดูว่าธุรกิจใหม่ๆ สาขาใหม่ โปรโมชั่น หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เขาทำจะสามารถทำให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนได้หรือไม่

ในระหว่างที่ลงทุน Full Time เธอมีอะไรให้ทำอีกอย่าง คือสละเวลา 5-6 เดือน ไปสอนหนังสือในโรงเรียนเทศบาล 2 วัดเสนานฤมิตร อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี แต่ก็ยังดูแลพอร์ตเหมือนเดิม นอกจากนั้นมีโอกาสไปทำงานเป็นเลขาใน สยามมิชลินปีกว่า แต่ก็ลาออกตอนปี 2554 เพราะพอร์ตเริ่มใหญ่ขึ้นต้องมีคนดูแล

"ภาเริ่มเปิดพอร์ตชื่อตัวเองตอนปี 2552 ไม่ได้ดังแล้วแยกวงนะ! พอร์ตของครอบครัวก็ยังดูแลอยู่เหมือนเดิม ตอนนั้นเปิดพอร์ตกับ บล.ภัทร กลยุทธ์เน้นกระจายการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม วิธีการลงทุนส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงตรงที่ไม่เน้นบริษัทที่เติบโตปีละ 20% แล้ว แต่จะชอบบริษัทที่มีผลประกอบการขยายตัวสม่ำเสมอ และรายได้ไม่ผันผวน ภาจะทำตารางประมาณการผลประกอบการล่วงหน้า 1-2 ปี ถ้าข้อมูลมากจะทำยาวกว่านั้น เมื่อเรามีข้อมูลจะทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

คุณแม่วัย 34 ปี บอกว่า ตอนนี้มีหุ้นกลุ่มค้าปลีก หุ้นโรงพยาบาล และหุ้นพร็อพเพอร์ตี้ ที่เหลือเป็นหุ้นที่กำลังเติบโต ถามว่า รักกลุ่มไหนมากสุด เวลานี้ต้องยกให้ "หุ้นค้าปลีก" แม้ค่า P/E จะสูงมาก แต่ถ้าถือยาวผลตอบแทนโอเคเลย เพราะความเสี่ยงต่ำ แถมผลประกอบการยังเติบโตสม่ำเสมอ

ที่สำคัญนักลงทุนสามารถติดตามความ ฮอตของบริษัทได้จากการเดินไปตามสาขาต่างๆ ถ้าคนเข้ามาซื้อของเยอะ ขายดีแน่นอน เมื่อก่อนเคยเห็นหุ้นค้าปลีกบางตัวมีผลประกอบการขยายตัวสูงถึง 50% ฉะนั้นการที่ ดร.นิเวศน์ เคยบอกว่า หุ้นกล่มุนี้ยังคงน่าลงทุนมันถูกต้องแล้ว "หุ้นค้าปลีกเปรียบเป็นหุ้นสามัญประจำบ้านที่ทุกครอบครัวต้องมี” (หัวเราะ)
หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล เป็นอีกตัวที่ หลงรักธุรกิจที่อยู่กับความจำเป็นของคน เราป่วยรักษาตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว รพ.เอกชนในเมืองไทยมีอนาคตมากๆ คนมีรายได้สูงขึ้นเขาอยากซื้อความสะดวกสบาย อยากซื้อเวลา จะให้ไปนั่งรอคิวโรงพยาบาลของรัฐบาลคงไม่ไหว ปกติธุรกิจโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อปี

เธอยังชอบหุ้นพร็อพเพอร์ตี้ บริษัทขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะกินมาร์เก็ตแชร์รายเล็กๆอีกมาก แต่ละเจ้าเขาเก่งเรื่องการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค อีกอย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก แต่จะเกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ ทำให้ค่อนข้างปลอดภัย ถ้าจำเป็นต้องซื้อบ้าน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องซื้อ

ถามว่าวันนี้มูลค่าพอร์ตหลักอะไร เธอหัวเราะก่อนบอกว่า ผลตอบแทนทุกวันนี้เป็นที่น่าพอใจมาก ทั้ง 2 พอร์ต (พอร์ตชื่อสามีและของตัวเอง) เติบโตทุกปีเฉลี่ย 15% ขึ้นไป พอร์ตหลักอะไรมันไม่สำคัญแล้วละ! ขอแค่สามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้ก็พอใจแล้ว ตอนนี้ทั้ง 2 พอร์ตมีหุ้นรวมกันจนจะกลายเป็น SET50 อยู่แล้ว เรามองพอร์ตของครอบครัวเป็นกองทุน ถ้ามั่นใจในการทำธุรกิจ และวิธีการทำรายได้ของบริษัทก็ลงทุนเลย แม้จะไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนกว่าจะมีคนมาเห็นคุณค่าเหมือนที่เราเห็นก็ตาม

หุ้นทุกตัวเราคัดสรรมาดีแล้ว แต่ในพอร์ตจะมีหุ้น 2 เกรด คือ ประเภท "ดิวิชั่น 1" และ "ดิวิชั่น 2" พวกเกรด 2 จะเปลี่ยนเป็น 1 ได้หรือไม่ ก็เป็นไปได้ แต่คงไม่ใช่ซูปเปอร์สต็อก เราแบ่งหุ้น "ดิวิชั่น 1" และ "ดิวิชั่น 2" อย่างละครึ่ง แบบ 1 เรามองว่าธุรกิจมั่นคง รายได้ไม่ผันผวนมาก ทำธุรกิจอิงการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ผู้บริหารต้องเป๊ะ! (เก่ง) มาก ธรรมาภิบาลเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ส่วนดิวิชั่น 2 เป็นพวกหุ้น "เทิร์นอะราวด์" และหุ้น "อันเดอร์ แวลู" ธุรกิจงั้นๆ

เซียนหุ้นวีไอ ทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่ลงทุนในตลาดหุ้น ได้บทเรียนการลงทุนหลายเรื่อง โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ มันสอนให้เรารู้จักรับมือ ช่วงนั้นทุกคนเป็นเหมือนกันหมด คือราคาหุ้นลงมาเยอะมาก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เราต้องคุมอารมณ์ให้อยู่ อย่าทำให้ข่าวร้ายมาทำให้เสียใจจนล้มเลิกการลงทุน ที่สำคัญเราต้องเก็บใจให้ปลอดภัยจากตลาดหุ้น

เมื่อหุ้นมันลงมาขนาดนั้น เวลาดัชนีและหุ้นกลับตัวมันจะขึ้นแรง ฉะนั้นเมื่อมีสมมติฐานว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ก็ควรกลับไปดูว่า ธุรกิจอะไรไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ ส่วนใหญ่ก็เป็นธุรกิจที่มีรายได้จากการบริโภคภายในประเทศ ตอนนั้นก็เจอบริษัทที่ยอดขายไม่ได้รับผลกระทบเลย เป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์บางตัว และค้าปลีก
อยากฝากบอกนักลงทุนว่า ให้มองการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจจริงๆ มองไปในรูปแบบระยะยาว เพราะเราจะได้เห็นว่า บริษัทนั้นมีการเติบโตแบบที่คาดการณ์หรือไม่...อย่าใจร้อนขายก่อน จงอย่ามองตลาดหุ้นเป็นเพียงหน่วยลงทุน ไม่เช่นนั้นจะหาความสุขไม่ได้เลยเซียนหุ้นวัย 34 ปี กล่าวเตือน

โดย กรุงเทพธุรกิจ
http://bit.ly/VEfowH

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น