วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

งานเลี้ยงที่กำลังร้อนแรง



เวลาที่ไปงานเลี้ยงหรือปาร์ตี้เพื่อความบันเทิงนั้น  ช่วงหัวค่ำที่คนเริ่มทยอยมาบรรยากาศก็มักจะยังไม่รื่นเริงนัก  ดนตรีก็มักจะเล่นเพลงเบา ๆ  สบาย ๆ   เมื่อคนเริ่มมากขึ้น  บรรยากาศก็จะคึกคักขึ้น  คนเริ่มจิบเหล้าเบียร์และคุยกันสนุกสนาน  ดนตรีเริ่มดังขึ้น  เพลงเริ่มเร็วขึ้น  หลายคนเริ่ม  “เปิดฟลอร์”  ออกไปเต้นรำ  ซักระยะหนึ่งแอลกอฮอก็เริ่มออกฤทธิ์   คนออกไป  “ดิ้น”  กันเต็มพื้นที่  ดนตรีเล่นเพลงที่เร้าใจและดังจนคุยกันไม่รู้เรื่อง  งานเลี้ยงกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่  “สนุกและร้อนแรงที่สุด”  มันอาจจะเป็นเวลา สี่ทุ่มครึ่ง  ห้าทุ่ม  หรืออาจจะใกล้เที่ยงคืนที่เป็นกำหนดเวลา  “งานเลิก”  ไม่มีใครรู้หรือสนใจที่จะรู้เพราะในเวลาที่ทุกคนกำลังสนุกสนานนั้น  พวกเขามักจะ  “ลืมดูเวลา”  ไม่มีใครอยากจะออกจากงานก่อนที่มันจะเลิกแม้จะมีกฎว่า  คนที่ออกหลังสุดต้อง  “จ่ายสตางค์

          นั่นเป็นคำบรรยายแบบเปรียบเปรยกับบรรยากาศของตลาดหุ้นในขณะนี้ที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ   นับจากต้นปีที่ 1025 จุดเป็น  1324 จุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 หรือเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 29% ไม่นับรวมปันผลอีก 3-4%  ซึ่งทำให้นักลงทุนที่มีหุ้นในตลาดมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ   จริงอยู่  การที่หุ้นปรับขึ้นมามาก ๆ  ในเวลาอันรวดเร็วนั้น  ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ  หลายปีที่ผ่านมาหุ้นก็ปรับตัวสูงแบบนี้มาหลายครั้ง   แต่การปรับตัวในรอบก่อน ๆ  นั้นก็มักจะเป็นการปรับตัวขึ้นหลังจากที่ตลาดหุ้นตกลงมาอย่างหนัก  ดังนั้น  คนที่ถือหุ้นอยู่ตลอดเวลาก็อาจจะไม่ได้กำไรนัก   อาจจะเพียงแต่ได้ทุนคืนมา    แต่การปรับขึ้นของหุ้นในรอบนี้เป็นการขึ้นหลังจากที่หุ้นได้ขึ้นมาสูงแล้ว  ดัชนีที่ 1324 นี้ถือเป็นดัชนีที่สูงที่สุดในรอบ 16 ปี  ดังนั้น  สำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นที่เข้ามาลงทุนในตลาดเพียงไม่กี่ปีหรือไม่เกิน 10 ปี   นี่คือเวลาแห่งความรื่นเริงอย่างแน่นอน  ประเด็นก็คือ  ความสนุกสนานจากการลงทุนในช่วงนี้กำลังใกล้จบหรือไม่  ดัชนีหุ้นในขณะนี้สูงเกินไปหรือไม่  และโอกาสที่หุ้นจะปรับตัวลงแรงและทำให้คนที่เข้ามาซื้อหุ้นในช่วงนี้ขาดทุนหรือไม่  มาลองคุยกัน

           เริ่มจากการดูว่าหุ้นในขณะนี้ร้อนแรงเกินไปหรือไม่ในทางจิตวิทยา”  หรือการดูบรรยากาศและความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ในตลาด  คำตอบของผมก็คือ  ค่อนข้างร้อนแรงหรืออาจจะพูดว่าร้อนแรงมากก็ได้  เพียงแต่  “คนทั่วไป”  เช่น  ช่างตัดผมหรือแท็กซี่ยังไม่ได้พูดถึงตลาดหุ้น  แต่นี่ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นว่าจะต้องเกิด  เนื่องจากประเทศไทยนั้นยังไม่รวยพอที่คนทั่วไปจะสนใจตลาดหุ้นในทุกสถานการณ์   การที่ผมพูดว่าตลาดหุ้นร้อนแรงมากนั้น   ผมสังเกตจากจำนวนคนที่เข้าฟังการสัมมนาการลงทุนที่จัดกันอย่างแพร่หลายนั้น  ในช่วงหลัง ๆ  นี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากจนเก้าอี้มักจะไม่พอและคนยินดีที่จะยืนฟังกันเป็นชั่วโมง ๆ  ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ  เราสามารถจัด  “ทอล์คโชว์เกี่ยวกับการลงทุนที่เก็บเงินคนเข้าฟังได้แล้วจากที่ต้องหาคนฟังแม้จะไม่ต้องเสียเงินอย่างในช่วงหุ้นซบเซาสมัยก่อน

           ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  ในช่วงหลังนี้มีนักลงทุนที่ยังมีอายุน้อย  อายุตั้งแต่ 20 ถึง 30 ปีต้น ๆ  ที่เป็นคน  Gen Y หรือเป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  คนกลุ่มนี้สนใจลงทุนในตลาดหุ้นเพราะเห็นว่าเป็นวิธีที่จะ  “รวยเร็ว”  โดยไม่ต้องทำงานหนักซึ่งก็เป็นเทรนด์”  ของคนในรุ่นใหม่นี้ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีไอทีที่พัฒนาแล้วและความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นมากของพ่อแม่  พวกเขาเห็นว่าตลาดหุ้นเป็นทางเลือกที่ดีที่เขาจะบรรลุความฝันนั้นได้   ว่าที่จริง  หลายคนที่พ่อแม่มีฐานะดีนั้น  ได้เลือกเส้นทางที่ไม่ทำงานประจำที่ได้เงินเดือนน้อยและไม่น่าสนใจเลย   แต่ลงทุนในตลาดหุ้นเป็นอาชีพ  ผมเองก็ไม่รู้ว่าพวกเขากำลังเดินตามรอย  “วอเร็น บัฟเฟตต์”  หรือเปล่าที่ไม่ทำงานประจำตั้งแต่เรียนจบ   อย่างไรก็ตาม  การที่ไม่ทำงานหรือออกจากงานมาลงทุนอย่างเดียวนั้น  ก็เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าตลาดหุ้นนั้นร้อนแรงมาก  เพราะพวกเขาเชื่อว่าผลตอบแทนการลงทุนในตลาดนั้นสูงมากจนทำให้รายได้จากการทำงานกินเงินเดือนไม่มีความหมาย

          นอกจากนักลงทุน Gen Y แล้ว  ผมพบว่ายังมี  “คนมีเงินโดยเฉพาะที่เป็นนักธุรกิจต่างก็สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น  บางทีพวกเขาอาจจะเห็นว่าการเล่นหุ้นนั้น  ทำเงินได้เร็วกว่าการทำธุรกิจเอง  แต่ที่น่าจะเป็นมากกว่าก็คือ  การลงทุนในหุ้นนั้น  น่าจะได้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงินที่ได้ดอกเบี้ยต่ำมากของพวกเขา

          สิ่งที่ยืนยันว่าตลาดหุ้นในขณะนี้น่าจะร้อนแรงเกินไปอย่างหนึ่งก็คือ  หุ้น IPO หรือหุ้นที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรก  ที่มีราคา  “ร้อนแรง”  เกือบทุกตัว  บางตัวเข้ามาซื้อขายวันแรกก็ปรับขึ้นไปแล้วกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์จากราคาจองซึ่งเป็นราคาที่ที่ปรึกษาการเงินมองดูว่าเหมาะสมกับพื้นฐาน  การที่มีหุ้นใหม่เข้าตลาดมากและราคาหุ้นปรับตัวแรงในวันซื้อขายวันแรกเป็นสัญญาณที่พิสูจน์มาแล้วทุกยุคทุกสมัยและในทุกตลาดว่าตลาดหุ้นนั้น  กำลัง  “ร้อนแรง”  และหลายครั้งหลังจากนั้น  “ฟองสบู่ก็แตก  ในตลาดหุ้นไทยเองผมก็ยังจำได้ถึงช่วงเวลาที่  “ใบจองหุ้นเข้าใหม่บางตัวนั้นมีค่ายิ่งกว่าราคาหุ้นที่จอง  นั่นคือในช่วงที่หุ้นไทยเป็นฟองสบู่ในราวปี 2535-36 ที่ดัชนีหุ้นไทยสูงขึ้นไปถึงพันเจ็ดร้อยกว่าจุด

          สุดท้ายก็คือเรื่องราวดี ๆ  เกี่ยวกับประเทศไทยที่คนมองว่ากำลัง  “ฟื้น”  จากภาวะ  “ป่วยไข้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ  โดยเฉพาะทางการเมืองและน้ำท่วมใหญ่ที่กระทบอย่างรุนแรงต่อการบริหารประเทศและการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ  ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา  ในทางตรงกันข้าม  ประเทศใหญ่ ๆ  ในโลกต่างก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนมีผลประกอบการที่แย่ลงหรือไม่โต  ดังนั้น  ประเทศในแถบเอเซียโดยเฉพาะประเทศไทยจึงเป็นเสมือนโอเอซิส”  ที่ยังน่าจะทำกำไรได้อยู่

           ทั้งหมดนั้นทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงกว่าปกติและทำให้หุ้นมีราคาไม่ถูกเลย  คือ PE ประมาณ 15 เท่าจากสถิติระยะยาวของไทยที่ประมาณ 10 เท่าเศษ ๆ    และหุ้นไทยในขณะนี้น่าจะแพงกว่าหุ้นในหลาย ๆ  ประเทศ  รวมถึงจีนที่เศรษฐกิจยังเติบโตในอัตราเกือบ 2 เท่าของไทย   ว่าที่จริง  หุ้นเด่น ๆ  ของไทยนั้นมีค่า  PE สูงกว่าหุ้นระดับโลกที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว  และนี่ก็ทำให้ผมเองเกิดความกังวลอยู่เหมือนกันว่าหุ้นไทยเวลานี้แพงเกินไปหรือเปล่า?

           คำตอบของผมก็คือ  มันแพง  แต่ก็ยังไม่ถึงกับรับไม่ได้  แต่ถ้าถามว่า  หุ้นในเวลานี้ยังเป็น  Value หรือเปล่าคำตอบของผมก็คือ  Value นั้นน่าจะหมดไปแล้ว  โดยเฉพาะสำหรับ Value Investor ที่เป็นชาวต่างชาติที่สามารถลงทุนในประเทศอื่นเช่นจีนได้อย่างสะดวก  สำหรับผมเองซึ่งไม่ใคร่มีทางเลือกมากนักนั้น  ถึงผมจะดูว่า Value นั้น  “หายหมด”  แล้ว  แต่ผมก็ยังไม่อยากออกจากตลาด   ผมคิดว่าความจำเป็นที่จะต้องออกจากตลาดในเวลานี้ยังไม่มาก  ที่เหนือกว่านั้นก็คือ  ผมคิดว่าความเสี่ยงที่หุ้นจะปรับตัวลงแรงยังไม่สูง  ในขณะเดียวกัน  โอกาสที่หุ้นจะปรับตัวขึ้นไปอีกมากก็ยังมีอยู่  ไม่ใช่เพราะว่าหุ้นถูก   แต่เป็นเพราะว่าความสนใจลงทุนในหุ้นไทยโดยคนไทยเองและอาจจะต่างชาติบางกลุ่มก็อาจจะยังสูงอยู่  ดังนั้น  หุ้นต่อจากนี้ไปอีกระยะหนึ่งอาจจะยังวิ่งขึ้นไปสูงลิ่วได้   เหมือนกับงานเลี้ยงที่เข้าสู่ชั่วโมงสุดท้ายที่จะ  “สนุกและมันที่สุด”  และถ้ามันเป็นอย่างนั้น  ผมก็คงเตรียมตัวกลับบ้าน”  ก่อนที่งานจะเลิก   นั่นคือ  ถอนตัวจากตลาดหุ้นก่อนที่มันจะปรับตัวลงแรง  เนื่องจากราคามันสูงเกินพื้นฐาน

ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2012/12/03/1208

1 ความคิดเห็น: