วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มนุษย์หุ้น 2.0 : นักเตะล่าฝันกับเฮดจ์ฟันด์เงินล้าน

วัยเด็ก การ์ตูนเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจินตนาการของเราได้เป็นอย่างดี สมัยนั้นเด็กผู้ชายส่วนใหญ่ต้องรู้จัก กัปตันซึบาสะ การ์ตูนฟุตบอลสุดฮิต แฟนตาซียอดฮิตผสมจินตนาการ จำได้ว่าตอนเรียนประถม ยามเช้า ยามเที่ยง ยามเย็นต้องชวนเพื่อนพากันไปเล่นบอลโกหนูด้วยลูกบอลพลาสติก วิ่งไล่เตะ ไล่หวดกันแบบบอลวัด โดยสมมติกันเป็นตัวละครในการ์ตูนซึบาสะ ได้ทั้งเหงื่อ ได้ทั้งความสนุกกันไป เมื่อโตขึ้นมาหน่อยระดับมัธยม การ์ตูนฟุตบอล อย่าง “Whistle! ไอ้หนูแข้งทอง”, “ยิงประตูสู่ฝัน”, “viva calcio” ก็เป็นอีกหนึ่งการ์ตูนที่เน้นไปทางการวิ่งตามฝัน การพาตัวเองจากนักเตะเยาวชนโนเนมไปสู่การเล่นระดับอาชีพ การไปเป็นนักเตะดาวรุ่ง การร่วมมือกันพาทีมไปสู่เป้าหมายชัยชนะ
       
       การ์ตูนสามเรื่องนี้จะให้แรงบันดาลใจ และจินตนาการที่หล่อเลี้ยงความฝัน ความอยากเป็นดาวรุ่งในการเล่นฟุตบอลของเด็กๆ ได้ดี แน่นอนว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่อยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่เชื่อเถอะครับว่าเสี้ยวหนึ่งของความคิดในวัยขาสั้นที่วิ่งไล่เตะฟุตบอลในสนาม เด็กผู้ชายทุกคนอยากเล่นบอลเหนือชั้นกันทั้งนั้น
     
       จากเด็กธรรมดาที่ชอบเล่นฟุตบอล ทั้งโลกคงมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่เลือกเส้นทางนี้เป็นงานเลี้ยงชีพ และคงมีไม่มากเท่าไหร่ที่ได้ประสบความสำเร็จเป็นนักฟุตบอลอาชีพ มีชื่อเสียง เป็นดาวเด่น ติดทีมชาติ มีค่าตัวหลายล้านเหรียญ มีค่าเหนื่อยต่อสัปดาห์มหาศาล การไปถึงจุดนั้นได้นั้นยากแสนเข็ญ ด้วยข้อจำกัดเรื่องของอายุที่ต้องเร่งประสบความสำเร็จก่อน 25, ฝีเท้าที่ต้องโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่งในตำแหน่งเดียวกัน
      


       ถ้ายิ่งไม่มีพรสวรรค์ยิ่งยากไปใหญ่ และร่างกายที่ต้องสมบูรณ์ ปราศจากการบาดเจ็บ รวมไปถึงจิตใจที่ต้องเข้มแข็ง เสียสละชีวิตส่วนตัวเพื่อฟุตบอล เพื่อการซ้อม ว่ากันว่า นักฟุตบอลอาชีพใช้เวลาซ้อมมากกว่า 90% แต่ใช้เวลาลงสนามแข่งขันแค่ 10% ของเวลาทั้งหมด ดังนั้นที่กล่าวมา การเป็นนักฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จไม่ง่ายเลย
     
       ด้วยความที่ไม่ง่ายและมีข้อจำกัด จึงเกิดเป็นมูลค่าในตัวนักเตะขึ้น หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องค่าตัวนักเตะระดับโลกที่แพงมหาศาล ค่าเหนื่อยเงินเดือนที่มากกว่าอาชีพทั่วไปมากมายหลายเท่านัก มันจึงเกิดเป็นช่องทางการลงทุนของบรรดากองทุนป้องกันความเสี่ยง( Hedgefund) ที่สี่ห้าปีมานี้เริ่มเข้ามาลงทุนในนักเตะดาวรุ่ง เพื่อหาผลกำไรจากการเติบโตของมูลค่านักเตะกันมากขึ้น
     
       ตัวอย่างการลงทุนเพื่อทำกำไรของ Hedgefund ก็คือ การเข้าไปช่วยเหลือสโมสรฟุตบอลที่มีปัญหาการเงิน โดยเฉพาะในสเปน อิตาลี และประเทศในละตินอเมริกา เพื่อร่วมลงขันเป็นเจ้าของในสัญญาของนักเตะดาวรุ่ง เป็นประมาณ 20-30% จำนวนเงินก็จะขึ้นกับการประเมินค่าตัวของนักเตะแต่ละคนในสโมสร โดยสโมสรก็จะได้นำเงินส่วนนี้จากกองทุน Hedge fund ไปใช้เป็นค่าเลี้ยงดู ค่าฝึกสอน บำรุงรักษานักเตะ
     
       ส่วน Hedge fund จะได้กำไรจากการลงทุน ในกรณีนักเตะเยาวชนฉายแววเด่น มีทีมยักษ์ใหญ่ยอมทุ่มเงินทำสัญญาซื้อตัวไปเล่นในสโมสรระดับโลก ไม่ต่างอะไรกับการลงทุนในหุ้นระยะยาว เพราะ Hedge fund จะเข้าเป็นหุ้นส่วนเจ้าของนักเตะที่มีสัญญาอย่างน้อย 3-5 ปี โดยกองทุนพวกนี้จะมีแมวมองส่วนตัวที่ค้นหาดาวเด่นของแต่ละสโมสรเพื่อติดต่อขอร่วมลงทุน ดาวเด่นนี้ส่วนมากจะอายุน้อย ยังไม่เป็นที่รู้จักและมีฝีเท้าดีเยี่ยม ตรงนี้ถ้าจับดาวรุ่งถูกตัวก็รวยเละเทะได้เหมือนกัน
     
       ปัจจุบันมีหลายกองทุนที่ทำการลงทุนในลักษณะนี้ เช่น Quality Sports Investments Ltd., London-based Doyen Capital Partners LLP, Banco Espirito Santo SA (BES) เป็นต้น โดยบางกองมีมูลค่าการลงทุนหลายร้อนล้านเหรียญ กองทุนเหล่านี้มีส่วนถือหุ้นในสัญญานักเตะดาวรุ่งในสโมสรต่างๆ ในสเปน อิตาลี ตุรกี และละตินอเมริกา สโมสรเล็กๆ หรือสโมสรที่ต้องการเงินช่วยเหลือก็จะนิยมเปิดให้ Hedgefund เข้ามาลงทุน เช่น Atletico Madrid, Sporting Lisbon และอื่นๆ แต่ในบางประเทศสมาคมฟุตบอลนั้ยยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการลักษณะนี้ เช่นประเทศอังกฤษ ที่ออกมาห้ามหลังเจอปัญหากับ คาร์รอส เตเวส (Carlos Tevez) ที่เป็นเด็กของ Hedge fund ต้องการโอนสิทธิต่อเนื่องข้ามสโมสร
     
       ตัวอย่างการทำกำไรของ Hedgefund ที่สามารถทำกำไรจากสัญญาซื้อขายนักเตะได้มากถึง 60%  คือ Lisbon-based Espirito Santo ซึ่งเป็นเจ้าของ Benfica All Stars fund ที่ได้สิทธิในสัญญาของนักเตะดาวรุ่งจำนวนมากในสโมสรต่างๆ ของโปรตุเกส ด้วยเงินลงทุน $62 million 

       ผลตอบแทนหนึ่งที่โดดเด่นคือกรณีของ Angel di Maria yielded ที่ย้ายจาก เบนฟิกา (Benfica) ของโปรตุเกสไปรีล มาดริด (Real Madrid) ของสเปน ด้วยมูลค่าสัญญาถึง $50 million โดย Lisbon-based Espirito Santo ถือสิทธิ 20% ของสัญญา โดยลงทุนร่วมกับทีมต้นสังกัดเดิมจำนวน $6.15 million ในตัวของนักเตะดาวรุ่งคนนี้ในปี 2009 ทำให้ได้กำไรประมาณ 64% จากการซื้อขายครั้งนี้

อีกตัวอย่างเป็นกรณีของ Nuno Gonçalves ผู้จัดการกองทุนความเสี่ยงของ Football Players Funds Management Ltd. ที่บริหารเงินระดับ $14 million เพื่อลงทุนในสัญญานักเตะดาวรุ่ง เขาเคยลงทุนในนักฟุตบอลดาวรุ่งที่กลายเป็นซุป'ตาร์ระดับโลกดังๆ หลายคน เช่น คริสเตียโน โรนัลโด, ริคาโด คารอส โดยเขาและทีมงานแมวมองจะออกเสาะหาดาวรุ่งเพื่อมาร่วมลงทุนกับสโมสรต้นสังกัด โดยหวังกำไรจากมูลค่านักเตะในอนาคต โดยบริษัท Orey Group เข้าร่วมลงทุนกับสโมสรสปอร์ตติ้งลิสบอน ต้นสังกัดของคริสเตียโน โรนัลโด ตั้งแต่ปีกจอมสับคนนี้เล่นให้ทีมเยาวชนตั้งแต่อายุ 16 ปี โดย Nuno Gonçalves ได้ลงทุน 384,000 ดอลลาร์ สัดส่วน 35% ของมูลค่าตามสัญญาในขณะนั้นตอนปี 2003 เมื่อคริสเตียโน โรนัลโดย้ายไปแมนเซสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมมหาเทพแห่งเกาะอังกฤษด้วยค่าตัว $19.2 million ทำให้ Nuno Gonçalves ได้กำไรจากการลงทุนครั้งนั้น $6.1 million


นักฟุตบอลระดับโลกดังๆ หลายคนยังเคยเป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนร่วมระหว่าง Hedge fund กับสโมสรมากมาย แต่หลายรายก็ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดในส่วนนี้ ยิ่งโดยเฉพาะปัจจุบันเศรษฐกิจของยุโรปมีปัญหา ทำให้หลายสโมสรเฉพาะในอิตาลีและสเปนขาดสภาพคล่องและต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน ก็ยิ่งจำเป็นต้องเปิดรับเงินลงทุนจากกองทุนเหล่านี้มากขึ้น
     
       แน่นอนว่าทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง แม้การลงทุนในนักเตะดาวรุ่งจะสามารถทำกำไรได้มาก แต่โอกาสเสี่ยงขาดทุนก็มีมากได้เช่นกัน โดยเฉพาะกรณีที่นักเตะไม่สามารถแสดงผลงานที่โดดเด่นได้ หรือเกิดอาการบาดเจ็บหรือประสบอุบัติเหตุ (กรณีนี้ Hedgefund มักจะทำประกันเอาไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยง) หรือในกรณีที่นักเตะปฏิเสธจะย้ายทีมแม้สัญญาค่าตัวมูลค่าจะสูง แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอ ในการลงทุนนักเตะดาวรุ่ง 10 คนโอกาสประสบความสำเร็จอาจจะน้อยกว่า 40% (4 คน) แต่ส่วนใหญ่ถ้านักเตะสามารถแสดงผลงานที่ดี โชว์ฟอร์มเทพมาได้นั้น โอกาสจะทำกำไรมหาศาลจากสัญญาซื้อขายก็มีสูงเช่นกัน
     
       ผมนำเรื่องนี้มาเพื่อให้ดูเป็นตัวอย่างว่า ไม่ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์อะไร การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยงเสมอ ไม่ว่าจะลงทุนสั้นหรือยาว สิ่งสำคัญคือ ผู้ลงทุนต้องรู้จักความเสี่ยงและบริหารจัดการความเสี่ยงให้ได้ กรณีนี้จะเห็นว่า Hedgefund จะกระจายความเสี่ยงไปที่นักเตะหลายคนด้วยเงินลงทุนที่ไม่มากเกิน 30% ต่อคน และมีการทำประกันความเสี่ยงจากอุบัติเหตุไว้เสมอ
     
       เรื่องการเลือกสินทรัพย์ให้ถูก ในกรณีนี้คือเลือกนักเตะให้ถูกคน, รอจังหวะการเข้าลงทุน เมื่อเจอของดีต้องรู้จักรอ กรณีนี้เมื่อแมวมองของ Hedgefund เจอนักเตะเข้าจะไม่รีบลงทุน แต่ติดตามเป็นเดือนๆ เพื่อประเมินศักยภาพ ประเมินทักษะ รอจังหวะที่เข้าฟอร์มจึงติดต่อเข้าลงทุน
     
       นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างรูปแบบการลงทุนที่คล้ายกับการลงทุนในหุ้นระยะยาว นำมาให้เรียนรู้กันครับว่า คนรวยเขาหาทางบริหารเงินของพวกเขาผ่านกองทุนป้องกันความเสี่ยงได้ในหลายช่องทาง เพื่อกระจายความเสี่ยงในยามที่เศรษฐกิจโลกผันผวน อัตราดอกเบี้ยจะต่ำ เงินมากมายของพวกเขาย่อมต้องไม่หยุดทำงานครับ

คอลัมน์ มนุษย์หุ้น 2.0
โดยชัยภัทร เนื่องคำมา
www.cway-investment.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น