วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

“ลูกโป่งใกล้แตก” แล้วหรือยัง ?



รวยด้วยรักรวยด้วยหุ้น:หุ้นไทยใกล้จุดสูงสุดเดิม 1,789 จุด...เป็น ลูกโป่งใกล้แตกแล้วหรือยัง ?
คอลัมน์รวยด้วยรัก...รวยด้วยหุ้น

โดยมนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)

ช่วงนี้ ผมได้รับคำถามบ่อยมาก ว่า ตลาดหุ้นไทย เป็นจุด เป็น ลูกโป่งใกล้แตกแล้วหรือยัง ?ก็สมควรอยู่ เพราะช่วงนี้ ตลาดหุ้นไทยระดับใกล้ๆ 1,600 จุด ก่อนตกหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับว่า ตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯมา ในปี 1975 นั้น มีเพียงเดือนเดียวที่ดัชนีสูงระดับนี้ คือ เดือน มกราคม 1994 ซึ่งดัชนีตลาดฯ ขึ้นสูงสุด ของวันที่สูงสุด 1,789 จุด

ผมมองเร็วๆแล้ว ผมคิดว่า ไม่ใช่ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

1.ระดับลูกโป่งวัดด้วยอะไร ? ตอนนั้น กับตอนนี้ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ? ผมวัดระดับ ลูกโป่งด้วย เงินกู้สำหรับซื้อหุ้นหรือ ที่เรียกว่า มาร์จิ้นโลนซึ่งในยุค 1994-1997 นั้น ยอดอยู่แถวๆ 1.2-1.5 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบัน ยอดอยู่เพียงประมาณ 5-5.5 หมื่นล้านบาท เท่านั้น

และหากมองเทียบกับขนาดตลาดฯ ช่วงโน้นมูลค่าตลาดสูงๆเพียง 3.5 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันสูงถึง 13 ล้านล้านบาท กล่าวได้ว่า ขนาดตลาดฯใหญ่ขึ้น กว่า 3 เท่า แต่เงินปล่อยกู้ซื้อหุ้นลดลงต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง กล่าวได้ว่า ระดับสัดส่วนความเป็นลูกโป่งลดลงมากเมื่อเทียบกับขนาดตลาดหุ้น

2.เวลาลูกโป่งแตก แสดงว่าหุ้นแพงมากใช่ไหม ? ตอนนั้น กับตอนนี้ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ? ผมคิดว่าใช่เลยครับ ถ้าหุ้นไม่ใช่แพงมาก ก็คงไม่ตกแรงมาก ตอนนั้น ระดับตลาดหุ้นซื้อขายกันที่ PER ประมาณ 20 เท่า เมื่อเทียบกับปีข้างหน้า และปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 14 เท่า

ผมมักชวนให้นักลงทุนคำนวณส่วนกลับ PER ด้วย เพราะ PER คือ ราคาหุ้น / กำไรต่อหุ้น และ ส่วนกลับ คือ 1/PER = กำไรต่อหุ้น / ราคาหุ้น คือ ผลตอบแทน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปันผล และส่วนที่เหลือบริษัทเก็บไว้โต ซึ่งก็ยังเป็นของเจ้าของหุ้นอยู่ดี


ยุคที่ PER 20 เท่า ผลตอบแทนหรือส่วนกลับก็คือ 1/20 = 5%

และปัจจุบัน PER ประมาณ 14 เท่า ผลตอบแทนหรือส่วนกลับก็คือ 1/14 = 7%

โดยเฉพาะเมื่อเทียบผลตอบแทนกับเงินฝาก ช่วงนั้น คือ 20 เท่า คือผลตอบแทน 5% ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยสถาบันการเงิน ใกล้ๆ 10% ! แต่ ปัจจุบัน PER 14 คือ ผลตอบแทน 7% ก็ยังสูงกว่าดอบแทนธนาคาร ซึ่งอยู่ระดับ 2-3% เท่านั้น จึงยังไม่เห็นแรงกดดันที่น่ากลัวว่า เงินจะแห่ออกจากตลาดหุ้น ไปฝากสถาบันการเงินแต่อย่างใด

3.หุ้นไทยวิ่งแรงกว่าต่างประเทศเกินไปหรือเปล่า ? มี 2 ปัจจัยที่ตลาดหุ้นไทยมีความพิเศษกว่าต่างประเทศ

เรื่องแรก โดยนโยบาย รองนายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง อัตราภาษีของบริษัทจำกัด และ บริษัทมหาชนจำกัด ได้ปรับจาก 30% เป็น 23% ในปี 2012 และ 20% ในปี 2013 ตามลำดับ ทำให้กำไรสุทธิ เพิ่มจาก 70% เป็น 77% และ 80% ตามลำดับ คือ ทำให้กำไรปี 2013 โตจากปี 2011 ประมาณ 14% หากบริษัททำกำไรก่อนภาษีได้เท่าเดิม

เรื่องที่ 2 บ้านเมืองเราบอบช้ำจากความวุ่นวายทางการเมือง และ ภัยธรรมชาติ มานานหลายปี บัดนี้ หลายเรื่องดูดีขึ้น จึงทำให้ตลาดหุ้นเรา ก็สมควรที่จะซื้อขายในระดับปรกติใกล้เคียงตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ

ด้วย 2 ปัจจัยนี้ การที่ตลาดหุ้นไทย จะได้วิ่งแรงกว่าตลาดอื่นกันบ้างก็คงไม่น่าจะแปลกอะไร

4.การปล่อยมาร์จิ้นหลักทรัพย์ เหมือนหรือต่างกับอดีตอย่างไร ? จะเป็นระเบิดเวลาหรือไม่ ? ต่างกันค่อนข้างมากในหลายๆเรื่อง

เรื่องแรก แต่ก่อนนี้ ลูกค้าถูกบังคับให้ใช้ระบบ P/N มาร์จิ้น คือให้ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน บง. หรือ บงล. 1 ล้านบาท แล้วกู้ประมาณ 2 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้น 2 ล้านบาท ดังนั้น บล. หรือ บงล. จึงปล่อยสินเชื่อ 2 ล้านบาท โดยมีหุ้น 2 ล้านบาท เป็นหลักประกัน รวมกับตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 1 ล้านบาท มองจากมุมนักลงทุนก็คือ ต้องเป็นหนี้ถึง 2 ล้านบาท โดยใช้หุ้น 2 ล้านบาท และตั๋วสัญญาใช้เงิน 1 ล้านบาท เป็นหลักประกัน สินเชื่อต่อหลักประกัน สูงถึง 67% เสี่ยงมากสำหรับสถาบันการเงิน และเสี่ยงสำหรับนักลงทุนเช่นกัน เพราะตั๋วสัญญาใช้เงินในที่สุด ของหลายๆแห่ง เกือบกลายเป็นกระดาษเปล่า


แต่ปัจจุบันลูกค้าจะจ่ายเงินตรงกับ บล. 1 ล้านบาท และกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้น 2 ล้านบาท ภาระหนี้นักลงทุนก็น้อย สินเชื่อที่ บล. ปล่อยก็น้อย สินเชื่อต่อหลักประกัน ก็ลดลงเหลือประมาณ 50% เท่านั้น

นอกจากนั้น ปัจจุบัน ยังมีข้อมูลว่า ทั้งระบบปล่อยสินเชื่อหุ้น โดยมีหุ้นของบริษัทต่างๆ เป็นหลักประกัน กี่ % ของบริษัท ในปี 2008 ที่ตลาดวิกฤตทั่วโลกจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ มีหุ้นบางหุ้น ตกจากมูลค่าตลาดประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ต่ำสุดเหลือเพียง 200 ล้านบาทใน 8 วัน !

เมื่อได้ดูรายงานนี้ จะเห็นว่าหุ้นประเภทนั้นมีหุ้นวางเป็นหลักประกันสูงถึงประมาณกว่า 40% จึงไม่แปลกที่เวลาตก จะลงแรง เพราะหุ้นเกือบครึ่งบริษัทวางเพื่อกู้เงินนั้น ทำให้ระดับราคาหุ้นอยู่ในระดับ ปลอมง่ายๆ และตกแรงเมื่อลูกโป่งแตกในหุ้นนั้น

โบรกเกอร์ในปัจจุบันจึงดูข้อมูลในประกอบ ของเราก็จะไม่ปล่อยเพิ่มหากทั้งวงการมีหุ้นวางเป็นหลักประกันเกิน 20% แล้ว ผมจึงคิดว่า นักลงทุนก็ควรเข้าใจปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เช่นกันเพื่อประกอบการลงทุน

ในสภาวะตลาดผันผวนเช่นนี้ นักลงทุนพึงลงทุนด้วยความระมัดระวัง เน้นหุ้นปัจจัยพื้นฐาน ลงทุนระยะยาว ศึกษาข้อมูลทั้งสภาวะตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นที่ลงทุน เชื่อว่า จะได้ผลตอบแทนคุ้มค่าครับ


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์  26 มีนาคม 2556
http://bit.ly/10SjUxDhttp://www.manager.co.th/iBizchannel/viewNews.aspx?NewsID=9560000036389

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น