วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วิเคราะห์หุ้นจากตัวเลข

การวิเคราะห์หุ้น เราต้องวิเคราะห์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มักเริ่มจากการวิเคราะห์เชิงปริมาณก่อน


นั่นคือ เขาจะดูตัวเลขผลประกอบการและฐานะการเงินของบริษัทว่าเป็นอย่างไร ถ้าดูไม่ดีโดยเฉพาะปีล่าสุด เขาอาจเลิกสนใจไปเลย ถ้าดูดี หรือดีมาก เขาจะศึกษาต่อทางด้านคุณภาพ นั่นก็คือ ดูว่าบริษัทขายอะไร สินค้าโดดเด่นไหม แนวโน้มราคาสินค้า หรือบริการเป็นอย่างไร บริษัทอยู่ในตำแหน่งไหนของอุตสาหกรรม เป็นต้น

แต่สำหรับผม ผมมักจะเริ่มต้นวิเคราะห์เชิงคุณภาพก่อน เริ่มจากการมองด้านการตลาดและต่อเนื่องไปด้านต่างๆ  โดยเฉพาะความได้เปรียบเชิงแข่งขันของกิจการเทียบกับคู่แข่ง เมื่อสนใจแล้ว ผมจึงเริ่มวิเคราะห์ด้านปริมาณ และตัวเลขทางการเงินที่ผมจะดูก่อนเลย ก็คือ ตัวเลขสรุปข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ 4-5 ปี ย้อนหลัง ที่มีอยู่ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ set.or.th ของบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัท และต่อไปนี้ คือ การแนวการวิเคราะห์ของผม

ตัวเลขตัวแรกที่ผมสนใจมาก ก็คือ กำไรสุทธิ สิ่งที่ผมมอง ก็คือ ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา กำไรของบริษัทเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ากำไรของบริษัทนั้น "ลุ่มๆ ดอนๆ" นั่นคือ บางปีก็กำไร บางปีก็ขาดทุน แบบนี้อาจบอกได้ว่า กำไรของบริษัท "คาดการณ์ได้ยาก" ดังนั้น อนาคตกำไรของบริษัทคงไม่แน่นอน อาจจะกำไร หรือขาดทุนได้ ลักษณะแบบนี้ผมจะรู้ว่า การหามูลค่าที่แท้จริงทำได้ยากมาก บ่อยครั้งผมมักจะปล่อย "ผ่าน" ไป ถ้ากำไรบริษัทมีความผันผวนพอสมควรทีเดียว แต่ก็ยังกำไรอยู่ทุกปี แบบนี้ผมจะดูว่าปีที่แย่ที่สุดเป็นอย่างไร ถ้าพบว่าปีที่แย่ก็ยังได้กำไรคิดแล้วเท่ากับ 10% ของ Market Cap. หรือของมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดในปัจจุบัน แบบนี้ ผมคิดว่าหุ้นของบริษัทอาจยังน่าสนใจ เพราะถ้าในอนาคตกำไรไม่ต่ำกว่านั้น การลงทุนซื้อหุ้นของผมในวันนี้ยังทำผลตอบแทนได้ 10% ต่อปี ซึ่งไม่เลวนัก

ถ้ากำไร 4-5 ปีย้อนหลังที่ผมเห็น มีความ "สม่ำเสมอ" คือ ขึ้นลงในระดับ 10-20%  แบบนี้ ผมจะสรุปว่ากำไรของบริษัทในอนาคต น่าจะพอ "คาดการณ์ได้" ผมก็จะศึกษาต่อไปว่ามูลค่าพื้นฐานของหุ้น น่าจะเป็นเท่าไร โดยอาจเทียบกับกำไรล่าสุดที่ผมเห็น ถ้ากำไรสม่ำเสมอนั้น เป็นกำไรที่ไม่ค่อยจะเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปีแรกสุดจนถึงปีสุดท้าย ที่แสดงในตาราง ผมมักจะสรุปว่าเป็นหุ้นของกิจการที่อาจจะ "โตช้าหรือไม่โต" แบบนี้มูลค่าพื้นฐานที่ผมจะให้ก็จะต่ำ เช่น อาจให้มูลค่าพื้นฐานไม่เกิน 10 เท่าของกำไรของปีล่าสุดที่ผมเห็น แต่ ถ้ากำไร 5 ปีย้อนหลังที่ผมเห็น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราที่น่าประทับใจ เช่น เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15-20% แบบนี้ผมอาจจะบอกตัวเองว่า อาจจะเป็นบริษัทที่ กำลังโตเร็ว ถ้าเป็นแบบนี้ ผมจะให้มูลค่ากับหุ้นสูงกว่าหุ้นที่ไม่โตมาก อาจจะให้มูลค่าเท่ากับ 15-20 เท่าของกำไรของปีล่าสุดก็ได้

ตัวเลขตัวสำคัญต่อมาที่ผมจะดู ก็คือ ค่า ROE หรือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ถ้าตัวเลขนี้ในทั้ง 4-5 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่า 10%  ต่อปี ผมจะบอกตัวเองว่า บริษัทนี้กำไรไม่ดี เป็นบริษัทที่มีคุณค่าค่อนข้างน้อยในเชิงธุรกิจ บริษัทไม่ควรลงทุนขยายงานเพิ่ม เพราะทำไปก็ไม่คุ้ม ถ้ามีเงินสดเหลือ ควรจ่ายเป็นปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมากกว่า แต่ถ้าค่า ROE ของบริษัทสูงเกิน 15% ทุกปี หรืออาจจะสูงเกิน 20% ทุกปี แบบนี้แสดงว่า เป็นธุรกิจที่ดีมาก เพราะทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นสูงกว่าการลงทุนอื่นของผู้ถือหุ้นเอง และสูงกว่าต้นทุนการเงินของบริษัท ผมจะต้องดูเพิ่มว่า  ROE ที่สูงนี้  ไม่ได้เป็นเพราะบริษัทมีหนี้เงินกู้จากธนาคารสูงเกินไปด้วย

ตัวเลขสำคัญตัวที่สาม ก็คือ อัตรากำไรสุทธิคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ตัวเลขนี้ในแต่ละอุตสาหกรรมจะแตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นผู้ค้าปลีก ตัวเลขอาจจะอยู่ที่เพียง 3-5% แต่ธุรกิจเช่น โรงแรม อาจจะสูงถึง 20%  เหตุผลสำคัญ คือ ผู้ค้าปลีกมักมียอดขายสูง ดังนั้น กำไรเพียง 3%  ก็ได้กำไรมากแล้ว ขณะที่โรงแรม ยอดขายมักจะต่ำเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ใช้สร้างโรงแรม Profit Margin ก็ต้องสูงจึงจะคุ้ม ประเด็นสำคัญของตัวเลขนี้ ก็คือ ถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว บริษัทที่มี Margin สูงกว่าก็มักจะแสดงว่าเป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติหรือคุณภาพที่สูงกว่า พูดง่ายๆ  มี Value สูงกว่า นอกจากตัวเลขรายปีแล้ว แนวโน้มของตัวเลขนี้ มีความสำคัญมาก  ถ้า Profit Margin ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ปีแรกเป็น 4%  ต่อมาเป็น 4.2%  และถึงปีสุดท้ายหรือปีล่าสุดกลายเป็น 5%  แบบนี้ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า คุณภาพของบริษัทดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ Value หรือมูลค่าของบริษัทสูงขึ้นเรื่อยๆ

ตัวเลขที่สี่ที่ผมสนใจ ก็คือ  มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ  Market Cap.  นี่คือ ตัวเลขที่บอกว่าอดีต 4-5 ปีที่ผ่านมาตลาดให้มูลค่าบริษัทเท่าไร  และปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าเท่าไร  ประเด็นที่ต้องระวัง ก็คือ   บริษัทมีวอร์แรนท์หรือสิทธิที่จะเพิ่มจำนวนหุ้นอยู่หรือไม่และมีมากเท่าไร   เพราะถ้ามีมากและจะออกขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก  ตัวเลข Market Cap. ที่เห็นล่าสุดก็อาจจะไม่จริง  เราอาจจะต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าสิ่งที่เห็น  ข้อมูลมูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นนี้เป็นตัวที่บอกว่าเราจะต้องจ่ายเท่าไรถ้าเราจะเป็นเจ้าของบริษัททั้งหมด ลองเอาไปเปรียบเทียบกับตัวเลขหลายๆ  ตัวเราก็จะพอมีไอเดียว่ามันถูกหรือแพง

ตัวเลขที่ห้าที่สำคัญมาก ก็คือ ค่า PE  ซึ่งบอกถึงความถูกหรือแพงของหุ้นในกรณีที่บริษัท "มีกำไรที่สม่ำเสมอ" ค่า PE  ที่ปานกลาง ก็คือค่า PE ที่เท่าๆ  กับค่า PE  ของตลาดโดยรวมซึ่งในช่วงนี้มีค่าประมาณ 12-13 เท่า  ถ้าหุ้นที่เราดูอยู่มีค่า PE ต่ำกว่านี้ก็ถือว่าถูกและถ้าสูงกว่านี้ก็ถือว่าแพง  แต่หุ้นจะน่าซื้อหรือไม่นั้นต้องดูราคาเปรียบเทียบกับคุณภาพด้วย  ถ้ากิจการดี  ค่า PE จะสูงบ้างก็อาจจะคุ้ม  ตรงกันข้าม  ถ้าบริษัทไม่ดีเลย  ค่า PE แม้ว่าจะต่ำก็อาจจะไม่คุ้มค่า

ตัวเลขที่หก ก็คือ ค่า PB ซึ่งบอกถึงราคาหุ้นเทียบกับมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิของบริษัท  ค่าเฉลี่ยของตลาดในช่วงนี้ก็ประมาณเท่ากับ 2 เท่าเศษๆ ดังนั้น  หุ้นที่มีค่า PB สูงกว่า  2 เท่าก็ถือว่าแพงกว่าค่าเฉลี่ย  อย่างไรก็ตาม  ค่า PB นั้นก็มักจะใช้ได้เฉพาะในกรณีที่สินทรัพย์มีราคาตลาดใกล้เคียงกับมูลค่าทางบัญชีอย่างเช่นในกรณีของสถาบันการเงิน  ส่วนบริษัทอีกจำนวนมากนั้น  ค่า PB  ก็บอกอะไรได้ไม่มากนัก

และสุดท้าย ก็คือ  อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน  นี่คือ ตัวเลขที่บอกว่ามันเป็น  “หุ้นปันผล” หรือเปล่า  ถ้าตัวเลขนี้อยู่ในขั้น 5-6%  เกือบทุกปี  นี่ก็อาจจะบอกได้ว่าหุ้นตัวนี้น่าจะเป็นแนวหุ้นปันผลดี  ความเสี่ยงก็น่าจะต่ำหน่อยและก็อาจจะเหมาะสำหรับบางคนหรือเหมาะสำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตหุ้นที่ไม่เสี่ยงมาก


บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ 15 กพ.55
http://bit.ly/zwiY5k

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น