วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

“รัชดา ตั้งหะรัฐ” ลงทุนแล้วสำคัญต้องไม่ทุกข์

คีย์เวิร์ดที่สำคัญของการลงทุนของ"รัชดา ตั้งหะรัฐ"คือต้องไม่ทุกข์ ทำไมเธอยึดหลักแบบนั้น คลิกเข้าไปอ่าน



“เงินที่เท่ากัน...แต่ลงทุนต่างกัน...ผลลัพธ์ย่อมต่างกัน” นั่นคือแง่คิดดีๆ จากหญิงเก่งที่มุ่งมั่นอย่าง “รัชดา ตั้งหะรัฐ” ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายวางแผนการลงทุน-ส่วนตัวแทนขาย 1 สายงานพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ไทย) เธอคร่ำหวอดในแวดวงตลาดทุนและตั้งใจในการทำตลาดกองทุนรวมให้เติบโตด้วยการให้ความรู้-สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง แล้วส่วนตัวเธอเองลงทุนอย่างไร

 รัชดา บอกว่า สินทรัพย์ที่ลงทุนในพอร์ตจะมี 5 ประเภทหลัก ได้แก่
1) ตราสารหนี้
2) กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 
3) หุ้นไทย
4) หุ้นต่างประเทศ
และ 5) สินค้าโภคภัณฑ์

โดยให้น้ำหนักการลงทุนเท่าๆ กันประมาณ 20% ส่วนตัวจัดตราสารหนี้และกองทุนอสังหาริมทรัพย์อยู่ในกลุ่มเดียวกันเพราะเป็นการลงทุนโดยมองผลตอบแทนที่สม่ำเสมอซึ่งสามารถบริหารให้ได้ผลตอบแทนมากหรือน้อยได้เช่นกัน ตัวอย่าง ส่วนตัวต้องการผลตอบแทนรวมของพอร์ตการลงทุนประมาณ 7 - 10% ในส่วนของตราสารหนี้จะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุค่อนข้างยาว เช่น 3 ปี ได้ 5% ไปเลย โดยตั้งเป้าไปเลยว่าต้องการผลตอบแทนกี่เปอร์เซ็นต์ อีกส่วนที่เป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์จะเห็นการให้ผลตอบแทนค่าเช่าที่จ่ายมาในรูปของเงินปันผลที่สม่ำเสมออาจจะอยู่ 6 - 7%

ดังนั้นพอร์ตในกลุ่มตราสารหนี้ส่วนใหญ่ก็จะเน้นลงทุนในระยะยาวแบบนี้ เมื่อรวมกับผลตอบแทนจากสินทรัพย์อื่นก็ช่วยให้ผลตอบแทนรวมของพอร์ตใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ได้วางไว้
“เป้าหมาย 7 - 10% ที่ตั้งไว้จะมีผลต่อความมั่งคั่งในระยะยาวของนักลงทุนเอง คนส่วนใหญ่เก็บได้อยู่แล้วแต่นักลงทุนส่วนใหญ่กลับมองการลงทุนสั้นเกินไปทำให้เสียโอกาสในการลงทุนไปเลยก็มี เช่น เน้นลงทุนระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือน แล้วรอนำเงินกลับไปลงทุนใหม่ แทนที่จะได้ดอกเบี้ยล็อกยาวก็ไม่ได้

จึงไม่สามารถผสมพอร์ตเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงที่สุดตามที่ต้องการได้ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ทั้งที่เงินก้อนนั้นก็ไม่ได้ใช้อะไรครบกำหนดแล้วก็เอาไปลงทุนใหม่ แค่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีเงินก้อนนั้นอยู่เท่านั้นเอง”
รัชดา ยังบอกอีกว่า เงินลงทุนส่วนที่เหลือก็กระจายไปในหุ้นไทยซึ่งจะเลือกลงผ่าน “กองทุนประหยัดภาษี” ทั้งในส่วนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ก่อนเลย เพราะทันทีที่ลงทุนจะได้ในเรื่องของผลตอบแทนที่ได้จากภาษีที่ประหยัดได้กลับมาแน่ๆ แล้วค่อยไปลุ้นเอาผลตอบแทนที่จะได้เพิ่มขึ้นมาจากการลงทุนอีก

ในส่วนของหุ้นต่างประเทศปัจจุบันจะเน้นในภูมิภาคเอเชียและตลาดเกิดใหม่เป็นหลัก เช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์ก็เลือกลงทุนในทองคำเพราะเป็นการลงทุนที่ใกล้ตัวและคุ้นเคยกับคนไทยเป็นอย่างดี แม้การลงทุนในกลุ่มของ “สินทรัพย์เสี่ยง” ในระหว่างทางอาจจะมี “ความผันผวน” บ้างเป็นปกติ แต่เมื่อเน้นลงทุนระยะยาวเมื่อเจอกับความผันผวนในระยะสั้นก็ “อย่าตกใจ” เวลาตลาดสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลง แล้วต้องพยายามหาโอกาสกลับเข้าไปลงทุนเพิ่มด้วยเมื่อมีจังหวะที่ตลาดย่อตัวลงมาแล้วมองการลงทุนใน “ระยะยาว” จะช่วยลดความผันผวนลงและเพิ่มโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะยาวได้
ตัวอย่าง ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 1.0 ล้านบาท แล้วลงทุนทุกเดือนสม่ำเสมอ ถ้าหาผลตอบแทนได้ 7% เงิน 1 ล้าน จะเป็น 4.0 ล้านบาท ใน 5 ปี แต่ถ้าหาได้แค่ 5% จะอยู่แค่ 3.5 ล้านบาท แต่ถ้าหาผลตอบแทนได้ 10% จะไปอยู่ที่ 5.0 ล้านบาท โดยช่วงการลงทุน 5 - 10 ปี เป็นระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในหุ้น

“การลงทุนส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนระยะยาว แต่ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งไว้จับจังหวะตลาดด้วยเช่นกัน เวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงก็จะเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดีเอาไว้ในจังหวะที่คนตื่นกลัว แต่เราไม่กลัวเพราะเป็นเงินลงทุนระยะยาว และเข้าใจว่าเศรษฐกิจก็มีวงจรของตัวเอง สุดท้ายวันหนึ่งตลาดก็จะกลับขึ้นมา จากเงินที่เหมือนกัน

แต่การลงทุนไม่เหมือนกันผลลัพธ์คนละเรื่องเลย การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เราสามารถที่จะลดความเสี่ยงลงได้ด้วยการยืดระยะเวลาการลงทุนให้นานออกไป ในบางปีอาจจะมีความผันผวนบ้างแต่ในระยะยาวก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า

ตัวอย่าง ตลาดหุ้นไทยในช่วง 2543 - 2553 ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 22% ต่อปี ถ้ามีเงิน 1 ล้านบาท ผ่านไป 10 ปี มี 22 ล้านบาท คนละเรื่องกับคนที่ฝากเงินอยู่ แล้วได้ดอกเบี้ย 2 - 3%

ก่อนจากรัชดาฝากข้อคิดว่า แม้เราลงทุนจะหวังในเรื่องของผลตอบแทนแต่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า “ลงทุนไปแล้ว...ตัวเองต้องไม่ทุกข์” เพราะผลตอบแทนจะมาพร้อมกับความผันผวน จุดสำคัญอยู่ตรงการจัดพอร์ต แต่จะจัดพอร์ตได้ต้องเข้าใจตัวเองให้ดีพอควรก่อนว่าตัวเองต้องการอะไรทั้งในแง่ของ “ผลตอบแทน” และ “ความเสี่ยง


บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ 5 กพ.2555
http://bit.ly/zmmp7e

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น