วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

This Time Is Different (ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งอื่น ๆ)

หนังสือเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่น่าสนใจเล่มหนึ่ง
คือหนังสือ "This Time Is Different (ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งอื่น ๆ)"

เขียนโดยศาสตราจารย์ Kenneth Rogoff แห่งมหาวิทยาลัย Harvard (และเป็นอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ) และศาสตราจารย์ Carmen Reinhart แห่งมหาวิทยาลัย Maryland ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2009 โดยสาระสำคัญคือการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่เกิดขึ้นในรอบ 800 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือข้อมูลโบราณสมัยที่ยังใช้เหรียญเงิน เหรียญทอง ก็นำเอามารวบรวมเอาไว้ และพยายามวิเคราะห์หาข้อสรุปให้ครบถ้วนที่สุด โดยรวมทั้งวิกฤตในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา

ข้อสรุปของหนังสือเล่มนี้คือวิกฤตต่าง ๆ ในรอบ 800 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างจะมีความคล้ายคลึงกันทั้งในเชิงของสาเหตุและผลกระทบ ในกรณีของต้นตอของปัญหานั้นสรุปได้ว่าเกิดจากการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นมากจนเกินตัว (leverage) ซึ่งเป็นผลมาจากความมั่นใจจนเกินไปบวกกับความโลภที่มีอยู่ก่อนแล้ว) ทำให้กล้าเสี่ยงลงทุนจนผลักดันให้ราคาสินทรัพย์สูงเกินปัจจัยพื้นฐาน (เกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ เช่น ราคาบ้าน) จนก่อให้เกิดปัญหาในที่สุด แต่หากรากเหง้าของปัญหาคือฟองสบู่ในสินทรัพย์ซึ่งแตกสลายลง แล้วทำให้เกิดวิกฤตการเงินและสถาบันการเงิน (financial and banking crisis) ผลพวงที่จะตามมาจากการวิเคราะห์ข้อมูล 800 ปีที่กล่าวถึงสรุปได้ดังนี้

1.ราคาสินทรัพย์จะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและยาวนาน (deep and prolonged) กล่าวคือโดยเฉลี่ยราคาบ้านปรับลดลง 35% โดยอาศัยเวลาปรับตัวยาวนาน 6 ปี ในขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 56% ในระยะเวลาประมาณ 3.5 ปี

2.อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นประมาณ 7% (เช่น กรณีสหรัฐเคยมีอัตราการว่างงาน 5-6% แต่ปัจจุบันอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 10% แล้ว) โดยจะอยู่ที่ระดับสูงยาวนาน 4 ปี ในขณะที่จีดีพีจะปรับลดลงได้ประมาณ 9% จากจุดสูงสุดมาถึงจุดต่ำสุด (เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจดีมาก เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3% และในช่วงที่ตกต่ำที่สุดจะติดลบ 6%) โดยเศรษฐกิจจะตกต่ำอยู่ประมาณ 2 ปี จะเห็นว่าปัญหาการว่างงานยืดเยื้อกว่ามาก



3.หนี้สาธารณะ (หุ้นของรัฐบาล) จะเพิ่มขึ้นประมาณ 86% แต่ในบางกรณีหนี้สาธารณะอาจเพิ่มได้อีกมาก เช่น กรณีของประเทศไทยในปี 1997 นั้น หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 30% ก่อนวิกฤตมาเป็น 60% ในปี 2000 ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะการเข้าไปช่วยระบบธนาคารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากความตกต่ำของเศรษฐกิจทำให้รายได้ภาษีของภาครัฐปรับลดลงอย่างมาก ประกอบกับความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อช่วยกระตุ้นมิให้เศรษฐกิจตกต่ำจนเกินไป

หากพิจารณาจากข้อสรุปหลัก ๆ ของศาสตราจารย์ Rogoff และ Reinhart ก็จะเห็นได้ว่าผลกระทบซึ่งทำให้ราคาสินทรัพย์ลดลง การว่างงานเพิ่มขึ้น จีดีพีลดลงนั้นล้วนแต่จะส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำซึ่งน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมากกว่าเพิ่มปัญหาเงินเฟ้อ แม้แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการคลัง ซึ่งเพิ่มหนี้สาธารณะก็เป็นเรื่องที่จะกดให้อัตราเงินเฟ้อในอนาคตลดลง เพราะรัฐบาลจะต้องถูกกดดันให้ลดการใช้จ่ายในอนาคต และ/หรือเพิ่มภาษีในอนาคต ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้แม้รัฐบาลจะพยายามดื้อดึงไม่บริหารจัดการหนี้สาธารณะให้มีวินัย ก็มักจะถูกตำหนิโดยสถาบันจัดอันดับความเสี่ยงและนักลงทุนก็ลงโทษโดยการซื้อพันธบัตรรัฐบาล (ให้รัฐบาลกู้เงิน) ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เช่น กรณีของประเทศกรีซ ที่ยังไม่สามารถโน้มน้าวให้นักลงทุนเชื่อได้ว่าจะรักษาวินัยทางการคลังได้ ทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นจาก 3% มาเป็นกว่า 6% ในขณะนี้ ซึ่งกดดันให้เศรษฐกิจตกต่ำลง อันจะทำให้เงินเฟ้อน่าจะมีแนวโน้มลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอันตรายจากปัญหาเงินเฟ้อ แต่ผมพยายามชี้ให้เห็นว่าปัจจัยต่าง ๆ นั้นชี้ไปในทิศทางที่จะลดเงินเฟ้อมากกว่าเพิ่มเงินเฟ้อ เพราะรากเหง้าของปัญหาคือได้ก่อกรรมเอาไว้โดยการกู้เงินมากเกินไปและน่าไปปั่นราคาสินทรัพย์ จนในที่สุดราคาปรับลดลงอย่างรุนแรง ทำให้ขาดทุนกันถ้วนหน้าและต้องหันมาพยายามใช้คืนเงินที่กู้มาเป็นจำนวนมากและยังเจอปัญหาตกงานและรายได้ตกต่ำอีก ดังนั้นจึงต้องปรับลดการใช้จ่ายอย่างรุนแรง ซึ่งล้วนแล้วแต่กดเศรษฐกิจและกดราคาให้ปรับลดลง ดังเห็นได้จากกรณีญี่ปุ่นซึ่งเผชิญวิกฤตการเงินและธนาคารตั้งแต่ปี 1989 และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็ฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่น และยังต้องเผชิญกับปัญหาเงินฝืดเป็นระยะ ๆ

แต่ในบางประเทศก็อาจเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ เช่น จีน ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่จำเป็นต้องบริโภควัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าปัญหาเงินเฟ้อและฟองสบู่ของจีนนั้นจะสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเอเชียต่อไปได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันรัฐบาลจีนก็ได้ออกมาตรการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ โดยการควบคุมการเพิ่มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ของจีนอย่างเข้มข้น ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลหลักเหตุผลหนึ่งในการกดดันให้ราคาน้ำมันและทรัพยากรประเภทต่าง ๆ ปรับลดลง เช่น ในกรณีของน้ำมันนั้นปัจจุบันปรับลงมาที่ 72-74 เหรียญต่อบาร์เรล ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 80-100 เหรียญค่อนข้างมาก และดูเสมือนว่ามาตรการสกัดการขยายตัวของสินเชื่อในจีนจะเข้มข้นกว่าและเริ่มต้นเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ ดังนั้นหากจีนควบคุมการขยายตัวของเศรษฐกิจได้เร็วเกินคาดก็จะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะลดแรงกดดันของราคาวัตถุดิบและอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลก
ในหนังสือของศาสตราจารย์ Rogoff และ Reinhart นั้นได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาวการณ์ที่เกิดเงินเฟ้อรุนแรงระหว่างปี ค.ศ. 1500 ถึง 2007 (บทที่ 12) โดยสรุปว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะเผชิญกับเงินเฟ้อมาโดยตลอด แต่ความรุนแรงของเงินเฟ้อตลอดจนความผันผวนของราคาสินค้านั้นจะเกิดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 เป็นต้นมา ทั้งนี้หนังสือสรุปว่าวิกฤตเงินเฟ้อนั้นจะเกิดขึ้นพร้อมกับวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยนเป็นส่วนใหญ่ หมายความว่าในความเห็นของผมจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ วิกฤตสถาบันการเงินน่าจะทำให้เกิดปัญหาเงินฝืดมากกว่า เพราะต้องลดทอนการใช้จ่ายเพื่อลดหนี้และแก้ปัญหาหนี้เสีย ยกเว้นแต่จะเกิดปัญหาวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยนตามมา ซึ่งกดดันให้ค่าเงินตกต่ำและถูกซ้ำเติมโดยการขาดดุลงบประมาณเป็นจำนวนมากจนทำให้เกิดปัญหาวินัยทางการคลัง ซึ่งประเทศที่เกี่ยวข้องก็ยังมีทางเลือกว่าจะรักษาวินัยทางการคลัง โดยการยอมให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง (ขึ้นภาษีและลดรายจ่ายของรัฐ) เช่น ที่กรีซกำลังพยายามจะทำอยู่ในขณะนี้ หรือจะกดดันให้ธนาคารกลางช่วยพิมพ์เงินให้รัฐบาลใช้เป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ (เช่น ซิมบับเว)

กล่าวโดยสรุปคือจะด่วนสรุปไม่ได้ว่าวิกฤตธนาคารของโลก ที่มีต้นตอจากสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้จะนำมาซึ่งปัญหาเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตรงกันข้ามปัญหาจากการที่เอกชนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ และปัญหาการว่างงานในปัจจุบัน มีแนวโน้มทำให้เกิดสภาพฝืดเคืองขึ้นได้ ดังนั้นหากกลัวเงินเฟ้อ ความเสี่ยงจึงอยู่ที่รัฐบาลสหรัฐใช้จ่ายเกินตัวและธนาคารกลางร่วมมือสร้างเงินเฟ้อ เพื่อทำให้มูลหนี้จริงด้อยลง ในอดีตปัญหาเงินเฟ้อมักเกิดขึ้นเมื่อค่าเงินปรับลดลงอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงต้องติดตามดูทิศทางของค่าเงินดอลลาร์อีกด้วย


ประชาชาติธุรกิจ
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02edi05110253&sectionid=0212&day=2010-02-11


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น