วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

ศึกชิงตา



ธุรกิจที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในช่วงนี้ ก็คือ ธุรกิจสื่อสารมวลชน
ต้นเหตุสำคัญ ก็คือ  การเกิดขึ้นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ประกอบกับการพัฒนาทางด้านของเทคโนโลยีการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ที่ทำให้สามารถขยายช่องทางของการสื่อสารออกไปมหาศาล  ทำให้ต้นทุนของการสื่อสารต่ำลงไปมากในขณะที่คุณภาพของภาพและเสียงกลับสูงขึ้นมาก
 

การเกิดขึ้นของ กสทช. และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้  “การผูกขาด”  ของสื่อที่มีมานานในประเทศไทยหมดหรือเกือบหมดไป  ในอนาคตอีกไม่นานเราจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะในด้านของโทรทัศน์ที่จะมีสถานีหรือช่องทีวีใหม่เป็นร้อย ๆ  ช่อง  ที่ส่งถึงผู้ชมได้ทั่วประเทศ  ผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ  ตั้งแต่ระบบดั้งเดิมที่เป็นเสาอากาศ  ดาวเทียม  สายเคเบิล  และทางอินเทอร์เน็ต   แต่ละช่องมีต้นทุนในการดำเนินการที่ต่ำมาก  ดังนั้น  การแข่งขันที่จะ แย่งผู้ชม”  จะรุนแรงมาก  โดยที่กลยุทธ์สำคัญที่สุดในการดึงดูดคนดู ก็คือ  การใช้  Content หรือเนื้อหาหรือข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับผู้เข้ามาชม  การแข่งขันเพื่อที่จะเอาชนะคู่แข่งในเกมที่น่าตื่นตาตื่นใจในครั้งนี้ผมอยากจะเรียก ว่า  “ศึกชิงตา”  นั่นก็คือ  ผู้ให้บริการทั้งหลายต่างก็ต้องพยายามยึด  “สายตา”  ของคนในประเทศให้มาดูรายการ หรือ Content ของตนเองให้มากที่สุด  เพราะจำนวนคนดูจะเป็น  “รายได้”  ที่กิจการจะได้รับที่จะมาจากการโฆษณา  ค่าบริการ  และอื่นๆ 
 

ประเด็นที่จะต้องตระหนักมากที่สุด ก็คือ  ในขณะที่มีบริษัทและช่องทางใหม่ๆ  เพิ่มขึ้นมากมายที่จะเข้ามาช่วงชิง  “ตา”  แต่จำนวน ตา”  นั้น  กลับมีจำนวน  “เท่าเดิม”   ความหมาย ก็คือ  คนไทยนั้น  ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก  เวลาที่จะใช้ตาเพื่อที่จะ ดู”  ก็ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากนักแม้จะมีคนบอกว่าเด็กรุ่นใหม่ใช้สายตามากกว่าคนรุ่นก่อน  ดังนั้น  ถ้าเราคิดว่าจำนวน ตา”  หรือเวลาที่ใช้ในการ  “ดูก็คือ รายได้”  ที่ผู้ให้บริการจะได้รับ   ข้อสรุปของเรา ก็คือ  รายได้จาก  “ศึกชิงตา”  ก็จะมีเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิม   แต่ผู้ให้บริการกลับมีเพิ่มขึ้นซึ่งจะต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก   ผลก็คือ  ถ้ามองในแง่ของอุตสาหกรรมโดยรวมแล้ว  ก็น่าจะเป็นว่า  กำไรของอุตสาหกรรมจะลดลง  ถ้ามองในรายละเอียดต่อไปก็น่าจะเป็นว่า  ผู้เล่นที่มีอยู่เดิมที่อยู่ในสภาวะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด   น่าจะมีกำไรน้อยลงเพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา แย่ง”  หรือแบ่ง  “ลูกตา”  หรือลูกค้าไปบ้าง  ส่วนรายใหม่ที่เข้ามานั้น  รายที่ประสบความสำเร็จสูงก็อาจจะได้กำไร  แต่หลายรายที่น่าจะมีจำนวนมากกว่าก็จะขาดทุน  มันเป็นศึกที่น่าจะคล้ายกับสงครามที่คู่ต่อสู้ส่วนใหญ่  “เสียหาย”  และมีผู้ได้ประโยชน์จริงๆ  น้อยมาก
 



เปิดความลับพอร์ตลงทุน 'ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร' วีไอต้นตำรับของเมืองไทย สรุปตัวเลข 'ไตรมาสแรก' ของปี 2555 โกยกำไรเกินเป้าหมายชนิดที่เจ้าตัวยังคาดไม่ถึง
เคยโชว์พอร์ตลงทุนของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร วีไอต้นตำรับของเมืองไทยผ่าน "บิซวีค" ไปแล้วเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนแทบไม่เชื่อสายตาว่าพอร์ตลงทุนของอาจารย์นิเวศน์ในปี 2555 จะเติบโตรวดเร็วขนาดนี้เหนือระดับ 2,500 ล้านบาท ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเมื่อประมาณสองปีก่อนยังพูดกันแค่ตัวเลขระดับ 1,000 ล้านบาท และหากย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อนพอร์ตเริ่มต้นแค่ระดับ "สิบล้านบาท" เท่านั้นเอง

ความมหัศจรรย์ของแนวทางการลงทุนแบบ "เต่า" แต่พอร์ตวิ่งเร็วกว่า "กระต่าย" ส่งให้อาจารย์นิเวศน์ยังครองใจแฟนพันธุ์แท้หุ้นวีไออันดับหนึ่งอย่างไม่เสื่อมคลาย คำถามหนึ่งที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าถามไถ่กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ในช่วงที่ตลาดหุ้นมาแรงแซงทางโค้ง จนดัชนีไต่ระดับขึ้นไปสร้างสถิติสูงสุดในรอบ 16 ปี อาจารย์นิเวศน์ซึ่งเป็น "ไอดอล" (บุคคลต้นแบบ) ของเหล่า Value Investor โกยกำไรจากการลงทุนในช่วงไตรมาส 1 ปี 2555 เข้าเป้าหมายหรือไม่ เรื่องนี้ต้องไปถามเจ้าตัวให้เป็นผู้เฉลย

ดร.นิเวศน์ ปรมาจาย์ด้านแวลูอินเวสเตอร์ของเมืองไทย บอกเล่าว่า ผลตอบแทนจากเงินปันผลบวกกับราคาหุ้น ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 เรียกได้ว่า "เกินเป้าหมายแบบสุดๆ" หากคิดจากราคาหุ้นเพียงอย่างเดียวก็น่าจะมีกำไรราวๆ 20% เทียบจากราคาหุ้นเมื่อปลายปี 2554

"ปกติผมจะปักธง! ทุกครั้งว่าต้องมีกำไรจากการลงทุน (กำไรหุ้นบวกเงินปันผล) ปีละประมาณ 10-15% แต่ผ่านมาเพียง 3 เดือน ผมได้รับผลตอบแทนเกินเป้าหมายแล้วค่อนข้างมาก จริงๆ แล้วก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะมีกำไรสูงขนาดนี้ ต้องยกความดีให้บริษัทจดทะเบียนที่ลงทุนเหล่านั้น ผู้บริหารเขาเก่งมาก ผมแค่นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลยสักอย่าง"
อาจารย์นิเวศน์ อธิบายว่า หลายคนคงคิดว่ากำไรจากการลงทุนของผม เกิดจากการขายหุ้นในพอร์ตออกมา จริงๆ แล้ว "ไม่ใช่เลย..ผมไม่เคยขาย" ก่อนลงทุนทุกครั้งจะคัดหุ้นมาอย่างดี โดยผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเกิดจากมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาต้นทุน และเงินปันผลที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอ ทุกครั้งที่บริษัทจ่ายเงินปันผลก็มักจะนำเงินซื้อหุ้นตัวนั้นเพิ่มเติม หากวิเคราะห์แล้วพบว่าคุ้มค่า และเข้าเงื่อนไขการลงทุนทุกประการ
 

วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

อ่านตลาดเกิดใหม่ 360 องศา ผ่านสายตาสุดยอดกูรู"โมเบียส"



ตลาดเกิดใหม่ทำไมถึงเนื้อหอม Fundamentals นำเสนอกันอีกรอบผ่านสายตากูรูระดับโลกอย่างมาร์ค โมเบียส
ปีนี้วิกฤติหนี้รัฐยุโรปดูจะจบยาก สหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างเชื่องช้า ยิ่งทำให้ตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกรวมไทย ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักลงทุน

ต้นเดือนเม.ย. ปีนี้ "มาร์ค โมเบียส" กูรูผู้รู้จริงพัฒนาการตลาดเกิดใหม่ เดินทางมาเยือนไทยตามคำเชิญของบลจ.กรุงศรี เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ข้อมูลแบบรอบด้านสำหรับข้อสงสัยที่ว่าหุ้นตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะละตินอเมริกา เหตุใดจึงมีเสน่ห์ดึงดูดเงินทุนจากทุกมุมโลกไหลเข้าต่อเนื่อง

  Fundamentals ได้มีโอกาสรับฟังสุดยอดกูรูผู้นี้จึงขอเก็บตกรายละเอียดทุกมุมมองเกี่ยวกับพัฒนาการกับอนาคตสดใสของตลาดเกิดใหม่ มานำเสนอนักลงทุนไทยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นเหมือนคู่มือช่วยหาจังหวะช่องทางทำรีเทิร์นดีจากตลาดเหล่านี้ในระยะยาว

ย้อนดูรีเทิร์นโดดเด่น
 ด้วยประสบการณ์การศึกษาพัฒนาการตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกอย่างถ่องแท้มานานหลายสิบปี จนผู้คนยกให้ มาร์ค โมเบียส ประธานบริหารเทมเพิลตัน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ เป็นสุดยอดกูรูตลาดเกิดใหม่ และการมาเยือนไทยครั้งล่าสุดนี้เขามีข้อมูลสถิติตัวเลขเศรษฐกิจมากมายเกี่ยวกับตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกมาฝาก

 โมเบียสหยิบยกพัฒนาการเฉพาะตลาดหุ้นเกิดใหม่ เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งในระยะ 5 ปี และตลอดทศวรรษที่ผ่านมา พิจารณาจากกราฟดัชนีเอ็มเอสซีของมอร์แกน สแตนเลย์ พบว่าดัชนีเอ็มเอสซีไอตลาดหุ้นเกิดใหม่ ไม่ว่าอยู่ในช่วงเกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2551-2552 และวิกฤติหนี้รัฐในยุโรปตั้งแต่ต้นปี 2554 และยืดเยื้อถึงต้นปีนี้ หรือในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดัชนีเอ็มเอสซีไอสะท้อนให้เห็นว่าผลประกอบการตลาดหุ้นเกิดใหม่ยังสามารถปรับขึ้น ทำได้ดีและเหนือกว่าดัชนีเอ็มเอสซีไอตลาดหุ้นสหรัฐกับทั่วโลกตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

มาร์ค โมเบียส กับมุมมอง'หุ้นไทย





ท่ามกลางความผิดหวังของนักลงทุนทั่วโลกเมื่อวันที่  5 เมษายน ที่ผ่านมา รวมตลาดหุ้นไทย  จนทำให้ดัชนีหลุด 1,200 จุดอีกครั้ง จากแรงขายของนักลงทุน หลังสหรัฐอเมริกาไม่ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (คิวอี3)  
          ในวันเดียวกันนั้น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี จำกัด ได้เชิญกูรู หรือผู้เชี่ยวชาญตลาดเกิดใหม่ชื่อก้องโลก"มาร์ค โมเบียส" ประธานบริหารกองทุนเทมเพิลตัน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ มาบรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์ รวมถึงคำแนะนำการลงทุน ในหัวข้อ"ผจญภัยการลงทุนไปกับ มาร์ค โมเบียส ในตลาดเกิดใหม่" 
          โมเบียส กล่าวว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่ในระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมาให้ผลประกอบการโดดเด่นค่อนข้างดีกว่าตลาดสหรัฐฯและตลาดหุ้นทั่วโลก และช่วง 5 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2550 จนถึงต้นปี 2555 พบว่าตลาดหุ้นลาตินอเมริกาให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่อื่นโดยรวม
          โดยในกลุ่มตลาดเกิดใหม่กว่า 40 ประเทศนั้น กูรูตลาดเกิดใหม่มองตลาดแนวหน้า หรือฟรอนเทียร์ มาร์เก็ตส์ ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออกและเอเชียหลายแห่งโดดเด่นดึงดูดใจมากที่สุด ประกอบด้วย ไนจีเรีย  เวียดนาม คาซัคสถาน ยูเครน  เคนยา กานา ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อียิปต์และโรมาเนีย
            สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น โมเบียส บอกว่าเขายังให้น้ำหนักลงทุนอย่างมาก พร้อมยิ้มและย้ำเสียงหนักแน่นว่า "ผมขอเป็นนักลงทุนระยะยาว" โดยแม้ต้องคอยตอบคำถามลูกค้าทั้งในยุโรปและสหรัฐฯเกี่ยวกับปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และมีแต่ข่าวร้ายต่าง ๆออกมาให้เห็น แต่กองทุนเทมเพิลตัน ที่เขาบริหารอยู่นั้นยังลงทุนต่อไปหลังจากลงทุนในไทยมานานกว่า 20 ปีแล้ว
         นอกจากนี้โมเบียสยังชื่นชมภาคธุรกิจไทยว่า ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด ก็ยังทำผลงานหรือผลประกอบการได้ดีมาก ไม่ว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมหนัก และการเมืองมีความไม่แน่นอน แต่ประเทศไทยก็ยังไปได้ดี จากเหตุผลที่กล่าวข้างต้น จึงทำให้กองทุนเทมเพิลตันยังลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นไทยต่อไป และแม้ดัชนีจะปรับขึ้นไปมากแล้ว แต่ก็ยังมีมุมมองเชิงบวกในตลาดหุ้นไทย และคาดว่าปีนี้ ผลตอบแทนที่จะได้จากหุ้นจะมากกว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินฝากถึง 2 เท่า

วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

Super Cheap



การเติบโตของธุรกิจการค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจ ระดับชาติ หลายอย่างดูเหมือนว่าจะเป็น แนวโน้มใหญ่ ที่ในที่สุดแล้วก็จะกระจายไปทั่วประเทศ
และยึดกุมธุรกิจเกือบทั้งหมด ในระหว่างที่กำลังขยายตัวไปตามท้องถิ่นต่างๆ
 เราจะพบว่ามีธุรกิจที่เจ้าของเป็นคนท้องถิ่นยัง ต่อสู้ กับธุรกิจจาก ส่วนกลาง ได้ บางบริษัทจะขยายตัวไปในจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียง ถ้ามองจากภายนอก ดูเหมือนร้านของบริษัทท้องถิ่นบางแห่งจะขายดีเท่ากับ หรือดีกว่ากิจการ ระดับชาติ ที่มาเปิดสาขาอยู่ใกล้ๆ กัน นี่อาจจะทำให้คนที่สังเกตการณ์คิดไปไกลว่า กิจการท้องถิ่นดังกล่าว อาจกลายเป็นคู่แข่ง หรือภัยคุกคามกิจการระดับชาติที่กำลังขยายตัวด้วยซ้ำ แต่นี่เป็นความจริงหรือเป็น ภาพลวง กันแน่ ลองมาดูภาพ ธุรกิจท้องถิ่น ที่สามารถ ต่อกร กับธุรกิจระดับชาติโดยเฉพาะที่เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ดู

ประเด็นแรกที่ผมจะพูดถึงคือ ร้านค้าปลีกท้องถิ่นที่โดดเด่นแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ระดับชาติได้ เกือบทั้งหมดเน้นลูกค้าที่มีรายได้ค่อนไปทางต่ำหรือต่ำสุด ทางการตลาด เน้นลูกค้าระดับ C ลงไป ซึ่งไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของเครือข่ายระดับชาติ และสินค้าที่ขาย จะเน้นราคาถูกเป็นหลัก การตั้งราคาสินค้าก็จะต่ำกว่าสินค้าแบบเดียวกัน ที่มีขายอยู่ในร้านที่เป็นโมเดิร์นเทรดระดับชาติ สิ่งที่แตกต่างดูเหมือนอยู่ที่คุณภาพของบริการ ที่น้อยและด้อยกว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ การตกแต่งร้านก็ไม่หรูหรา บางร้านไม่ติดเครื่องปรับอากาศ ภาพของร้านคือ เป็นร้านที่ขายสินค้าราคาถูก แต่เป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือคล้ายๆ กับร้าน Modern Trade ไม่เหมือนกับร้านค้า แบบดั้งเดิม ที่ทำกันในครอบครัวและมีขนาดเล็ก

บริษัทท้องถิ่นที่ โดดเด่น มีหลากหลายสินค้า ที่เห็นค่อนข้างมากรวมถึง ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ในพื้นที่ ร้านเหล่านี้อาจมีชื่อ ทันสมัย และเน้นภาพความมีราคาถูก เช่น อาจตั้งชื่อร้านว่า Home Cheap ร้านที่มีค่อนข้างมากอีกกลุ่มหนึ่งคือ ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแน่นอนมีการขายเงินผ่อน ซึ่งอาจตั้งชื่อเป็น Electronic Cheap ร้านสะดวกซื้อที่อาจมีชื่อว่า Con Cheap หรือแม้แต่ร้าน เมกะสโตร์ ขายสินค้าหลากหลายสารพัดอย่าง และมีขนาดใหญ่โตที่อาจตั้งชื่อว่า Super Cheap ร้านต่างๆ เหล่านี้ บางแห่งอาจเริ่มมีสาขาที่กระจายออกไปในพื้นที่อื่นของจังหวัดและในจังหวัดใกล้เคียง นั่นทำให้มีภาพและชื่อเสียงดีขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งและเป็นเสมือนหนึ่งประกาศว่า บริษัทสามารถแข่งขันและอาจเอาชนะร้านที่มาจากส่วนกลางระดับชาติได้

จัดทัพลงทุน “Asset allocation” เวลาคือหัวใจของผลตอบแทน



คอลัมน์ Fund Innovation
       By.... Mr.Honey
      
       การลงทุนที่ตอบจุดประสงค์การลงทุนคือเป้าหมายสำคัญของทุกคน เหนืออื่นใด ผู้ลงทุนควรมองตนเองว่าเหมาะกับการลงทุนในรูปแบบไหน ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่มี นวัตกรรมทางการลงทุนมีวัตถุประสงค์คือสร้างผลตอบแทนที่ดีและลดความเสี่ยง แต่ผู้ลงทุนจะรู้ได้อย่างไรว่านวัตกรรมหรือรูปแบบการลงทุนนั้นจะตอบสนองความต้องการของตนเองได้ ดังนั้น วันนี้คอลัมน์ Fund Innovation ขอเปิดเผยนวัตกรรมการลงทุนที่น่าสนใจ จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด มาให้ผู้อ่านได้ พิจารณากันว่าเหมาะกับตนเองมากน้อยเท่าไร
      
       สำหรับ บลจ.ทหารไทยนั้น เป็น บลจ.ที่เน้นการลงทุนที่ใช้กลยุทธ์ในแบบ Passive Fund เป็นการสร้างผลตอบแทนของกองทุนไปตามดัชนีตลาด พร้อมๆ ไปกับเน้นการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวและกระจายความเสี่ยง โดยที่มีกองทุนให้เลือกหลากหลายตามช่วงจังหวะของการลงทุน
      
       ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด บอกถึงนวัตกรรมการลงทุนของ บลจ.ทหารไทยว่า เราเชื่อว่า หน้าที่ที่สำคัญของ บลจ.คือการสร้างทางเลือก และพยายามทำให้รู้ว่าลูกค้าเราจะเลือกอย่างไร นวัตกกรรมที่ผ่านมาในช่วง 2-3 ปีหลังนี้เป็นผู้นำการลงทุนในแบบ Passive Fund ทั้งกองทุน SET50 และ JUMBO 25 ที่เพิ่งได้รับรางวัล “JUMBO 25 RMF” ไป และได้นำเสนอกองทุน ทหารไทย ธนพลัส ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนระยะสั้น (Short Term Fix Income )

วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

เปิดผลวิจัยGen Y 2012 ไทยเด่นต่อยอด-ชอบเล่นหุ้น


ค่ายมายด์แชร์ เอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสาร กับผลสำรวจจากกระแสวัฒนธรรมและเทรนด์ เกี่ยวกับความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการ Gen YระบุGenYไทยโดดเด่นนักสร้างสรรค์ศิลป์ ชอบเล่นหุ้น มีเงินเก็บเกิน 10 ล้านบาท แซงหน้า Gen Y ในญี่ปุ่นที่ไม่ชอบความเสี่ยง ย้ำเป็นเครื่องมือให้นักการตลาด แบรนด์สินค้า บริการต่างๆสามารถนำข้อมูลนี้มาปรับใช้ในกลยุทธ์การสื่อสารได้
      
       รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้น โดยมายด์แชร์เอเชียแปซิฟิคสาขาสิงคโปร์ โดยศึกษาข้อมูล จากผู้ประกอบการธุรกิจ Gen Y กว่า 300 คนใน 38 ประเทศ ซึ่งรววมถึง เมืองใหญ่ๆเช่น นิวยอร์ค ลอนดอน เซียงไฮ้ และกรุงเทพ เพื่อศึกษาว่าความคิดริเริ่มและไอเดียใหม่ๆของวัยรุ่นจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการสื่อสารในสังคมได้อย่างไร
      
       ผลการวิจัยCulture Vulture เป็นการนำเครื่องมือและฐานข้อมูล 2 ชุดของทีมวางแผนธุรกิจของมายด์แชร์มาใช้ร่วมกันในการศึกษาข้อมูล โดยกลุ่มแรกคือ Mindreader เป็นการใช้การศึกษาเชิงปริมาณจากฐานข้อมูลกว่า 40,000 คน ใน 40 ประเทศทั่วโลก โดยข้อมูลนี้ทำให้ทราบถึงประวัติและความต้องการของ Gen Y และกลุ่มที่สองคือข้อมูลเชิงคุณภาพที่มาจากเครือข่ายเทรนเซ็ตเตอร์ทั่วโลกของมายด์แชร์ (Mindshare’s Global Scout Network) ใน 38 เมืองทั่วโลก
      
       หัวหน้าการทำวิจัยฉบับนี้ของมายด์แชร์ แคทเทอรีน วิลเลี่ยม ระบุว่า หลักของงานวิจัยฉบับแรกนี้มาจากพื้นฐานความเชื่อที่ว่าในบางครั้งธุรกิจที่อยากประสบความสำเร็จต้องหมั่นที่จะเรียนรู้จากมุมมองด้านอื่นบาง กล่าวคือ บริษัทระดับใหญ่สามารถเรียนรู้จากนักลงทุน Gen Yที่ว่องไวและมีความคิดสร้างสรรค์ได้
      
       ขณะที่ ปัทมวรรณ สถาพร หัวหน้าฝ่ายวางแผนธุรกิจ มายด์แชร์ประเทศไทย กล่าวเสริมว่ารายงานฉบับนี้ได้ระบุกระแสการทำธุรกิจทั่วโลกที่ไม่ซ้ำกันถึง 14 กระแส โดยมี Gen Y ที่อายุระหว่าง 16 ถึง 29 ปี ซึ่งเกิดระหว่างพ.ศ. 2525 -2538 เป็นผู้บุกเบิกและบริหารจนประสบความสำเร็จในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง โดยกลุ่ม Gen - Y ในประเทศไทยนั้นมีส่วนอย่างมากต่อแนวคิดและกระแสแนวโน้มของผู้ประกอบการทั่วโลก
  

ตัวอย่างหุ้น Leader Stock กรณี Classic บริษัท Apple

ถ้าเราค้นพบบริษัทที่สามารถทำกำไรเติบโตได้ต่อเนื่อง และ % เติบโตสูงมาก การที่เราซื้อตอน PE สูงๆ ก็อาจจะยังไม่สายไป ถ้ามันเพิ่งเป็นช่วงแรกๆของการเติบโต

จากรูป ช่วงปี 2006 หุ้น Apple ตอนที่เกิด Breakout ที่ราคา 70.1$ PE ณ ตอนนั้นคือ 32 เท่า ถือว่าสูง
แต่หุ้นก็ยังสามารถขึ้นไปจาก 70$ ไปจนถึง 180$ (ขึ้นมา 157%) ก่อนที่จะตกลงมาแรงเหลือราวๆ 90$ เพราะเกิดวิกฤต 2008
แต่ให้สังเกตที่ EPS Growth ของบริษัท ตั้งแต่ปี 2006 - 2012 จะเห็.นว่ากำไรโตมากๆ (EPS โตจาก 2.27$ เป็น 27.68$)
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาหุ้นของ Apple ก็ยังสามารถเพิ่มขึ้นทำ New High ไปได้เรื่อยๆ หลังจากผ่านวิกฤต 2008
พอมาปี 2011 หุ้น Apple ตอนจุด Breakout ที่ราคา 427.85 $
PE กลับเหลือแค่ 12 เท่า ทั้งๆที่หุ้นขึ้นมาถึง 510% จากปี 2006
Case ของ Apple ผมคิดว่า การที่เราจะเจอบริษัทที่ EPS โตได้มากมายขนาดนี้ คงจะหายากหน่อย (ไม่นับหุ้น cycle, commodity)
ถ้าจะเอาเป็นหุ้นไทยใกล้ๆตัว ที่ผมนึกออกและเห็นชัดๆก็กลุ่มค้าปลีก CPALL MAKRO HMPRO, หุ้นอาหารยอดนิยมอย่าง CPF, หรือหุ้นเล็กอย่าง JUBILE พวกนี้กำไรโตค่อนข้างดีและยั่งยืน ไม่สวิงมาก ราคาหุ้นก็ขึ้นมาหลายเด้งทุกตัว และเทรดกันที่ PE สูงตลอดเวลา (ยกเว้นเกิดวิกฤตแรงๆ)
หรือพวกหุ้น Blue Chip อย่าง PTT ที่ขึ้นมาจาก IPO 30 บาท จนปัจจุบัน 300 กว่า ก็เพราะ EPS Growth เช่นกันครับ แต่ข้อเสียของ Blue Chip คือโอกาสที่กำไรจะโตมากๆค่อนข้างยากแล้ว เพราะฐานกำไรที่ใหญ่ ทำให้บริษัทพวกนี้มักจะหาทางโตด้วยการซื้อกิจการแทน
ดังนั้น ถ้าเราสามารถขุดเจอหุ้นที่มีแนวโน้มดีมาก ก่อนที่มันจะกลายเป็น Blue Chip ได้ก็ยิ่งดีครับ เพราะแสดงว่าเีราเจอบริษัทนี้ ณ ช่วงแรกๆของการเติบโตเลย
"มองหาหุ้นสุดยอด มองหา *Sustainable Strong Sale & Earning Growth* "

บทความจาก  ลงทุน หุ้น www.sarut-homesite.net
http://on.fb.me/IkfU0L
 


ฟองสบู่ทะเลใต้


ในช่วงที่หุ้นปรับตัวขึ้นเป็น "กระทิง" นั้น หลายคนก็กลัวว่าภาวะตลาดหุ้นจะกลายเป็น ฟองสบู่นั่นก็คือ หุ้นมีราคาแพงเกินพื้นฐานไปมาก
ในช่วงที่หุ้นปรับตัวขึ้นเป็น "กระทิง" นั้น หลายคนก็กลัวว่าภาวะตลาดหุ้นจะกลายเป็น ฟองสบู่นั่นก็คือ หุ้นมีราคาแพงเกินพื้นฐานไปมาก
ราคาหุ้นขึ้นไปเพราะผลจากแรง  “เก็งกำไร”  และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง  ในไม่ช้าราคาหุ้นก็จะปรับตัวลงมาอย่างแรง   เหมือนกับฟองสบู่ที่แตก   ผมคงไม่บอกว่าภาวะปัจจุบันของตลาดหุ้นไทยเป็นฟองสบู่หรือไม่   แต่อยากจะเล่าประวัติ”  หรือที่มาของภาวะฟองสบู่ที่สำคัญของโลกเหตุการณ์หนึ่งนั่นก็คือ  “South Sea Bubble”  หรืออาจจะแปลเป็นไทยว่า  “ฟองสบู่ทะเลใต้
 

ฟองสบู่ทะเลใต้นั้น  เกิดขึ้นในช่วงปี 1720 หรือประมาณ 300 ปีมาแล้วในอังกฤษ  นี่คือเหตุการณ์ที่ราคาหุ้นของบริษัท South Sea ของอังกฤษถูก  “ปั่นขึ้นไปสูงมาก  ปริมาณการซื้อขายสูงมาก  ขนาดหรือมูลค่าหุ้นในตลาดใหญ่มาก  และคนที่เข้าไปซื้อขายหุ้นมีจำนวนมหาศาลทั้งที่เป็นชาวบ้านและคนชั้นสูงที่มีชื่อเสียงของประเทศ  ความคึกคักของการซื้อขายหุ้น South Sea มีส่วนทำให้ตลาดหุ้นในอังกฤษและทั่วโลกปรับตัวขึ้นและกลายเป็นฟองสบู่ไปด้วย  และแน่นอน  เมื่อ  “ฟองสบู่แตกความเสียหายก็มหาศาลเช่นเดียวกัน   มาดูกันว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร
 

บริษัท South Sea Company ที่ต่อไปนี้ผมจะใช้ชื่อย่อว่า SSC ก่อตั้งขึ้นในปี 1711 โดยผู้ก่อตั้งนั้นมีหลายคน ซึ่งรวมถึง รมว.คลังของอังกฤษในช่วงนั้นด้วย บริษัทถูกตั้งขึ้นเพื่อที่จะช่วยหาเงินมาอุดหนุนหรือหาเงินมาแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาก อันเป็นผลจากการที่อังกฤษทำสงครามกับสเปน โดยหลักการก็คือ บริษัทจะซื้อพันธบัตรและหนี้สินระยะสั้นของรัฐบาลมาแปลงเป็นระยะยาวรวมถึงการลดดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะต้องจ่ายด้วย ในขณะเดียวกัน  รัฐบาลก็ตอบแทนโดยการอนุมัติให้บริษัทผูกขาดการค้าขายกับอาณานิคมในอเมริกาใต้ที่อยู่ที่ทะเลใต้ของสเปน

" จิม โรเจอร์ " นักผจญภัยแห่งตลาดทุนและเซียนสินค้าโภคภัณฑ์


ถ้าเอ่ยถึงชื่อ วอเรน บัฟเฟตต์ ย่อมเป็นที่รู้จักกันดีในวงการตลาดหุ้นทั่วโลก แต่สำหรับในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ผู้ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนนึงในปัจุบัน คงหนีไม่พ้นบุรุษนามว่า จิม โรเจอร์ส!!!!
(เพิ่มเติม ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ คือ ตลาดสินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง น้ำตาล โกโก้ ข้าวสาลี ฯลฯ ตลาดสินค้าพลังงาน โลหะ ทองคำ นอกจากนี้โรเจอร์ยังให้ความสนใจในตลาดค่าเงิน ซึ่งถือเป็นตลาดเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก)
โรเจอร์ได้รู้จักและหลุดเข้ามาสู่โลกเเห่งการเทรดโดยบังเอิญ หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ค้นพบว่าตัวเองมีความหลงไหลในการเทรดอย่างมาก จนเขาถึงกับกล่าวว่า "ตลาดหุ้นเเละตลาดการเงิน พร้อมที่จะจ่ายรางวัลตอบเเทนอย่างมหาศาลให้กับคนที่สามารถรู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นบ้างในตลาด ซึ่งเขา พร้อมที่จะไขปัญหานั้นเเม้ว่าจะต้องทำงานให้เเบบฟรีๆ ก็ตาม เพราะเขาชอบความตื่นเต้นเเละความท้าทาย"
โรเจอร์ได้กลับเข้าไปเรียนที่ Oxford เพิ่มเติมอีก 2 ปี โดยเน้นด้าน ปรัชญา เเละก็เศรษฐศาสตร์ เขาจะใช้เวลาว่างที่มีในการอ่านหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ นิตรสารทางการเงิน เขาฝันว่า ในวันหนึ่งเขาจะเป็น "Gnomes of Zürich" ซึ่งหมายความว่า เป็นผู้ที่มีความสามารถในการลงทุนเเละการเก็งกำไรขั้นสุดยอด
ในปี 1980 จิม โรเจอร์กับ จอร์ส โซรอสได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุน Quantum Fund ซึ่งกองทุนดังกล่าวนั้นสามารถสร้างผลตอบเเทนการลงทุนให้กับนักลงทุนได้อย่างมหาศาล ถึงกว่า 42 เท่า หรือ 4,000% ภายในระยะเวลา 10 ปี ในขณะที่ผลตอบเเทนจากการลงทุนใน S&P 500 ได้เเค่เพียง 47% และนั่นทำให้เขามีชื่อเสียงอย่างมากในวงการเงินทันที
โรเจอร์กล่าวว่า "ทุกๆวัน เวลาที่เขาตื่นมาตอนเช้า ไม่มีอะไรที่จะทำให้ เขามีความตื่นเต้น เเละมีความสุขอย่างมากได้เหมือนกับตลาดการเงิน" การทำงานเป็นเทรดเดอร์เหมือนการเล่นเกมส์ต่อปริศนา ที่ทุกๆวันจะมีเกมส์ใหม่ๆออกมาให้เราเล่นเสมอๆ เป็นที่สุดของความสนุกสำหรับเขา
 

วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

เล่นหุ้นเหมือนทำธุรกิจ


แนวคิดอย่างหนึ่งที่ผมยึดติดเสมอเวลาเลือกซื้อหุ้นก็คือ  ให้เลือกซื้อหุ้น เหมือนกับเลือกซื้อธุรกิจ

สมมติว่า มีเพื่อนคนหนึ่งมาชวนเราร่วมหุ้นกันเปิดร้านอาหาร เราเองก็คงต้องดูอย่างละเอียดว่า เพื่อนคนนี้เป็นยังไง เก่งมั๊ย ไว้ใจได้มั๊ย ตัวร้านอาหารก็คงต้องดูว่า ตั้งอยู่ที่ไหน คนจะเข้ามากินเยอะมั๊ย อาหารรสชาติเป็นยังไง ที่สำคัญ กำไรที่คาดว่าจะได้คือเท่าไหร่ แล้วเทียบกับเงินที่ลงทุนไปคุ้มมั๊ย ฯลฯ
คำถามพวกนี้ เป็นคำถามที่คล้ายๆกันในการเลือกซื้อหุ้นของผม
สมมติว่า มีคนแนะนำหุ้นมาตัวนึง
ผมก็จะลองพยายามหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อนที่จะตัดสินใจ

ธุรกิจทำอะไร แนวโน้มเป็นอย่างไร บริษัทมีจุดแข็งอะไรบ้าง มีจุดอ่อนอะไรบ้าง
ตัวบริษัทมีฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร หนี้เยอะไปมั๊ย ถ้ายอดขายตกบริษัทจะอยู่รอดได้มั๊ย
ผู้บริหารเป็นใคร เก่งรึเปล่า ผลงานย้อนหลัง และที่สำคัญที่สุดซื่อสัตย์รึเปล่า
สุดท้าย ธุรกิจกำไรเท่าไหร่ และกำไรจะโตต่อรึเปล่า ด้วยอัตราการเติบโตประมาณเท่าไหร่
ราคาจะต้องถูก เมื่อเทียบกับคุณภาพ
ถ้าสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ครบถ้วน การซื้อหุ้นก็จะเป็นการลงทุนอย่างถูกวิธี โอกาสขาดทุนจะต่ำกว่าการลงทุนโดยหวังเพียงแค่ว่าราคาจะขึ้น

ทีนี้ข้อมูลต่างๆที่จะเอามาตอบคำถามข้างต้นจะหามาจากไหนละครับ
อันนี้ไม่ยากเลย ตอนนี้ข้อมูลเกือบทุกอย่างสามารถหาได้บน internet แล้ว และค่อนข้างจะครบถ้วนซะด้วย เพียงแต่ต้องรู้ว่าจะหามาจากไหน

ตัวแรกที่ควรอ่านเป็นอย่างยิ่งเลยก็คือ 56-1 เป็นข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ค่อนข้างครบถ้วนที่สุด
ใน 56-1 จะพูดถึง ตัวบริษัท ธุรกิจที่ดำเนิน การตลาด ความเสี่ยงของธุรกิจ งบการเงิน ฯลฯ โดยเข้าไปดูได้ที่เวปของ กลต. เลือกชื่อย่อของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ แล้วเลือกหุ้นที่สนใจแล้วจัดการ Load มาอ่านกันตามสบายเลยครับ

บทความจาก
เล่นหุ้นเหมือนทำธุรกิจ
Yoyo’s Value Investing Way
สันติ สิงหวังชา

อ่านใจ!'โมเบียส'แบบเต็มๆกับเหตุผลชูหุ้น'แบงก์-พลังงาน'




'โมเบียส'ชูหุ้นแบงก์-พลังงานเด่น ยกตลาดเกิดใหม่-ไทยน่าลงทุนที่สุด 3 ปีพม่าน่าสนใจเข้าไปลงทุน 3 ภาค'พลังงาน- การผลิตท้องถิ่น-การบริโภค'

นายมาร์ค โมเบียส ประธานบริหารเทมเพิลตัน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ ให้ข้อมูลภายหลังการนำเสนอเรื่อง ผจญภัยการลงทุนไปกับ มาร์ค โมเบียส ในตลาดเกิดใหม่ซึ่งจัดโดย บลจ.กรุงศรี เมื่อวานนี้ (5 เม.ย.) ว่า แนวโน้มตลาดหุ้นเกิดใหม่ในระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมาให้ผลประกอบการโดดเด่นค่อนข้างดีกว่าตลาดสหรัฐและตลาดหุ้นทั่วโลก และช่วง 5 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2550 จนถึงต้นปี 2555 พบว่าตลาดหุ้นละตินอเมริกาให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่อื่นโดยรวม

 ทั้งนี้ นายโมเบียส เจาะจงว่า ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่กว่า 40 ประเทศนั้นเขามองตลาดแนวหน้า (frontier markets) ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออกและเอเชียหลายแห่งโดดเด่นดึงดูดใจมากที่สุด ประกอบด้วย ไนจีเรีย, เวียดนาม, คาซัคสถาน, ยูเครน, เคนยา, กานา, ซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, อียิปต์และโรมาเนีย

 สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้นเขายังให้น้ำหนักลงทุนอย่างมากและเขาขอเป็นนักลงทุนระยะยาว ซึ่งแม้ต้องคอยตอบคำถามลูกค้าทั้งในยุโรปและสหรัฐเกี่ยวกับปัญหามากมายเกิดขึ้นในไทย และมีแต่ข่าวร้ายมากมายออกมาให้เห็น แต่กองทุนของเขายังลงทุนต่อไปหลังจากลงทุนในไทยมานานกว่า 20 ปีแล้ว
 นายโมเบียส อธิบายว่า คนไทยทำงานหนักสามารถผ่านพ้นช่วงแห่งความยากลำบากมาได้ตลอด บริษัทไทยทำธุรกิจได้ดีมาก ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด ไม่ว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมหนัก การเมืองไม่แน่นอน แต่ไทยยังไปได้ดีเขาจึงยังลงทุนระยะยาวในไทยต่อไป และแม้ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นไปมากแล้ว แต่กองทุนของเขายังมองตลาดหุ้นไทยแง่ดี และคาดว่าปีนี้ ผลตอบแทนที่จะได้จากหุ้นจะมากกว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินฝาก 2 เท่า

 “เราคึกคักกับการลงทุนในหุ้นไทย โดยกลุ่มแบงก์กับพลังงานเป็นหุ้น 2 กลุ่มน่าสนใจ พิจารณาจากไทย มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รายได้ประชากรขยายตัว และผู้คนบริโภคมากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยง สำหรับตลาดหุ้นไทย อาจขึ้นอยู่กับเพื่อนบ้าน เช่นเศรษฐกิจจีนไม่ดี หรือ กัมพูชา ลาว และ เวียดนาม อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงไม่เติบโตไปตามแนวโน้มการค้าเพิ่มขึ้น แต่ผมเชื่อว่าความเสี่ยงดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น และอาเซียนน่าจะโตได้อีก

วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

ไม่มีคำว่าสาย


เรื่องการลงทุนในหุ้น นักวิชาการจำนวนมากมักบอกว่า เป็นเรื่อง "เสี่ยง" กว่าการลงทุนในพันธบัตร เงินฝากธนาคาร หุ้นกู้

เพราะที่กล่าวมาทั้งหมด เงินต้นยัง "อยู่ครบ" พร้อมกับดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแน่นอน และหุ้นยังถูกมองว่ามีความเสี่ยงกว่าที่ดิน หรือทองคำในสายตาของคนทั่วไป ในแง่ที่ว่าทั้งสองอย่าง "จับต้องได้และไม่สึกหรอ" และรักษาคุณค่าได้เสมอ ราคาทองคำและที่ดินมีแต่จะ "เพิ่มขึ้น" แม้ช่วงหลังราคาทองคำอาจ "ปรับตัวลงบ้าง" ในระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวแล้ว "ไม่เสี่ยง"  ผิดกับหุ้นที่ราคาขึ้นลงทุกวัน หุ้นบางตัว ราคาตกลงไปมากในเวลาสั้นๆ จนแทบจะหมดค่า และหุ้นสำหรับบางคนเหมือนกับ "กระดาษ" ที่ราคาขึ้นลงได้รวดเร็ว บางครั้งขึ้นไปหลายเท่าได้ในเวลาอันสั้น แต่บางครั้งตกลงมาได้มากมาย แทบจะไม่มีค่าเหมือน "กระดาษ" ดังนั้น หุ้นจึงเป็นอะไรที่ "เสี่ยงมาก"
 
นี่เป็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงในบางมิติ คือ โดยอิงอยู่กับการลงทุน "ระยะสั้น" และเป็นการมองทรัพย์สินหรือหุ้นเป็น "รายตัว" แต่ถ้ามองการลงทุนเป็น "ระยะยาว" และลงทุนในทรัพย์สิน หรือหุ้นเป็นแบบ "พอร์ตโฟลิโอ" หรือกระจายการลงทุนโดยการถือทรัพย์สินหรือหุ้นเป็นกลุ่ม ความเสี่ยงก็จะเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิง เหตุผลสำคัญ คือ ในระยะยาว มิติสำคัญ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกตัวหนึ่ง คือ "อัตราเงินเฟ้อ" เพราะจะทำให้เงินมีค่าลดลง แม้เม็ดเงินยังอยู่ครบ ตัวอย่างเช่น อีก 20 ปีข้างหน้าเงินเฟ้อเท่ากับปีละ 3% แต่เงินลงทุนของเราได้ผลตอบแทนปีละ 2%  เมื่อครบ 20 ปี เงินลงทุนโตขึ้นจาก 100 บาท  เป็น  149 บาท  แต่วันนั้นสินค้าจะขึ้นราคาจาก 100 บาท  เป็น 181 บาท  ทำให้เรา "ขาดทุน" 32 บาท หรือซื้อของได้น้อยลง 18% และนี่คือความเสี่ยงของการถือทรัพย์สินที่มีมูลค่าคงที่ แต่ไม่เติบโต หรือเติบโตช้ากว่าเงินเฟ้อในระยะยาว
 
มิติการลงทุนแบบ "พอร์ตโฟลิโอ" ช่วยให้การลงทุน "ผันผวน" น้อยลงมากทั้งระยะสั้นและระยะยาว การลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่น อาจมองได้ไม่ชัด แต่การลงทุนในหุ้น ถ้าเราลงทุนหุ้นเพียงตัวเดียว ความเสี่ยงจะสูงมาก เพราะหุ้นตัวนั้นอาจประสบปัญหารุนแรงได้  กิจการอาจจะเจ๊งไป และทำให้ราคาหุ้นกลายเป็นศูนย์ แต่ถ้าถือหุ้นหลายๆ ตัว โอกาสที่ทุกกิจการจะล้มละลายมีน้อยมาก ราคาหุ้นก็จะคละเคล้ากันไป บางตัวดี บางตัวอาจไม่ค่อยดี แต่โดยรวมราคาหุ้นจะเปลี่ยนไม่มาก ในระยะสั้น  แม้เราถือหุ้นในพอร์ตหลายๆ ตัว หรือถือกองทุนรวมที่มีหุ้นจำนวนมาก มูลค่าหุ้นอาจลดลงได้เพราะปัจจัยร้อยแปด แต่ระยะยาว มูลค่าหุ้นโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเรื่อย และถ้าเราถือหุ้นได้ถึง 20 ปี  โอกาสที่มูลค่าหุ้นจะลดลงน้อยมาก ตรงกันข้าม โอกาสหุ้นจะขึ้นไปสูงมีมาก โดยเฉลี่ยแล้ว ผลตอบแทนจะอยู่ที่ 10% ต่อปี เงิน  100 บาทกลายเป็น 673 บาทในเวลา 20 ปี  เทียบกับการฝากเงินที่เราจะได้ 149 บาทแล้ว  ต้องบอกว่าการลงทุนในหุ้น ดีกว่ามากถ้ามีเวลาลงทุนถึง 20 ปี หรือลงทุนระยะยาว

'สุทัศน์'แนะ'วีไอ'ตั้งสติ..เฟ้นหา'สุดยอดหุ้น'


ภายหลัง SET Index ปิดทะลุ 1,200 จุด สูงสุดในรอบเกือบ 16 ปี นับจากวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนทั้งในมุมของนักลงทุนหุ้นคุณค่าหรือแวลูอินเวสเตอร์ (วีไอ) ระดับ "เซียน" ออกมายอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยเริ่ม "แพง..เล่นยาก" แต่ต้องไม่ท้อเด็ดขาด
เซียนหุ้นรายใหญ่ สุทัศน์ ขันเจริญสุข กรรมการ บมจ.ระยองเพียวริฟายเออร์ (RPC) และผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ จำกัด ในฐานะ "ประธานชมรมไทยวีไอ" กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ในช่วงบ่ายของวันที่หุ้นไทยกำลังวิ่งทะยานทำนิวไฮ! ในรอบ 15 ปีว่า ราคาหน้ากระดานตอนนี้ "แพงมาก" แล้ว แต่หุ้นดีๆ ยังมีอยู่อีกเยอะเพียงแต่ตอนนี้อาจไม่ใช่จังหวะเหมาะสม

สุทัศน์ เตือนสตินักลงทุนว่า หากนักลงทุนนั่งจ้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในห้องค้าทั้งวันแล้วเห็นความคึกคักของราคาหุ้น ความคิดของเราจะเป๋ตามตลาดรู้สึกว่าต้องตามข่าวที่นั่นที่นี่มากมาย ถ้าหากเราวางสิ่งวุ่นวายเหล่านั้นเอาไว้จะรู้ว่าไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากเมื่อวานเลย ไม่ว่าจะตลาดหุ้นไทย นิเคอิ หรือดาวโจนส์ ก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป

ถ้าเราอายุ 30 ปี วันพรุ่งนี้ก็อายุ 30 ปีกับหนึ่งวัน แม้จะเกิดวิกฤติการเงินหรืออะไรก็ตาม ธุรกิจก็ยังคงเดินอยู่ต่อไปไม่ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลง สิ่งที่เราไปใจจดใจจ่อกับตลาดมันไม่เกี่ยวกับธุรกิจที่เขาทำเลย ความหมายที่ผมอยากจะสื่อก็คือ..อย่าไปสนใจมัน

แต่สำหรับแวลูอินเวสเตอร์ (วีไอ) ไม่ว่าสภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร คุณต้องไม่หยุดค้นหาบริษัทดีๆ ยิ่งราคาหุ้นหน้ากระดานตอนนี้ "แพง" ยิ่งต้องเฟ้นหาสุดยอดหุ้น "แต่ไม่ต้องรีบ(ซื้อ)" การที่คุณจะเข้าใจธรรมชาติของอะไรสักอย่างไม่มีคำว่า "เร็ว" หรอก ทุกอย่างต้องใช้เวลากว่าจะรู้แบบถ่องแท้
ขั้นตอนที่นักลงทุนหุ้นคุณค่าควรทำในตอนนี้ ประธานชมรมไทยวีไอ แนะนำว่า ประการแรกต้องค้นหาบริษัทที่ "สุดยอด" ให้ได้ก่อน จากนั้นก็ "รอซื้อ" ในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งข้อผิดพลาดของนักลงทุนส่วนใหญ่คือ ไปให้น้ำหนักที่ "จังหวะ" ก่อนตัวหุ้น เมื่อเราเจอหุ้นที่ดีแล้วให้ "จดใส่โน๊ต" เอาไว้ แล้วก็ "นั่งคอย" ดูว่าเมื่อไรจะซื้อได้ โดยส่วนตัวจะมุ่งเน้นหุ้นที่ให้ผลตอบแทน "เงินปันผล" มาก่อน "ส่วนต่างกำไร" โดยเชื่อว่าพอร์ตที่ลงทุนอยู่จะค่อยๆใหญ่ขึ้นได้ด้วยตัวของมันเอง