วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

มาร์ค โมเบียส กับมุมมอง'หุ้นไทย





ท่ามกลางความผิดหวังของนักลงทุนทั่วโลกเมื่อวันที่  5 เมษายน ที่ผ่านมา รวมตลาดหุ้นไทย  จนทำให้ดัชนีหลุด 1,200 จุดอีกครั้ง จากแรงขายของนักลงทุน หลังสหรัฐอเมริกาไม่ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบ 3 (คิวอี3)  
          ในวันเดียวกันนั้น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี จำกัด ได้เชิญกูรู หรือผู้เชี่ยวชาญตลาดเกิดใหม่ชื่อก้องโลก"มาร์ค โมเบียส" ประธานบริหารกองทุนเทมเพิลตัน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ มาบรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์ รวมถึงคำแนะนำการลงทุน ในหัวข้อ"ผจญภัยการลงทุนไปกับ มาร์ค โมเบียส ในตลาดเกิดใหม่" 
          โมเบียส กล่าวว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่ในระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมาให้ผลประกอบการโดดเด่นค่อนข้างดีกว่าตลาดสหรัฐฯและตลาดหุ้นทั่วโลก และช่วง 5 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2550 จนถึงต้นปี 2555 พบว่าตลาดหุ้นลาตินอเมริกาให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่อื่นโดยรวม
          โดยในกลุ่มตลาดเกิดใหม่กว่า 40 ประเทศนั้น กูรูตลาดเกิดใหม่มองตลาดแนวหน้า หรือฟรอนเทียร์ มาร์เก็ตส์ ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออกและเอเชียหลายแห่งโดดเด่นดึงดูดใจมากที่สุด ประกอบด้วย ไนจีเรีย  เวียดนาม คาซัคสถาน ยูเครน  เคนยา กานา ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อียิปต์และโรมาเนีย
            สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น โมเบียส บอกว่าเขายังให้น้ำหนักลงทุนอย่างมาก พร้อมยิ้มและย้ำเสียงหนักแน่นว่า "ผมขอเป็นนักลงทุนระยะยาว" โดยแม้ต้องคอยตอบคำถามลูกค้าทั้งในยุโรปและสหรัฐฯเกี่ยวกับปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และมีแต่ข่าวร้ายต่าง ๆออกมาให้เห็น แต่กองทุนเทมเพิลตัน ที่เขาบริหารอยู่นั้นยังลงทุนต่อไปหลังจากลงทุนในไทยมานานกว่า 20 ปีแล้ว
         นอกจากนี้โมเบียสยังชื่นชมภาคธุรกิจไทยว่า ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด ก็ยังทำผลงานหรือผลประกอบการได้ดีมาก ไม่ว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมหนัก และการเมืองมีความไม่แน่นอน แต่ประเทศไทยก็ยังไปได้ดี จากเหตุผลที่กล่าวข้างต้น จึงทำให้กองทุนเทมเพิลตันยังลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นไทยต่อไป และแม้ดัชนีจะปรับขึ้นไปมากแล้ว แต่ก็ยังมีมุมมองเชิงบวกในตลาดหุ้นไทย และคาดว่าปีนี้ ผลตอบแทนที่จะได้จากหุ้นจะมากกว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินฝากถึง 2 เท่า

           เมื่อผู้สื่อข่าวหยอดคำถามว่าชอบลงทุนหุ้นกลุ่มไหนบ้าง โมเบียส ตอบแบบไม่ลังเลว่ามี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มพลังงาน ด้วยเหตุผลสนับสนุนคือ ประเทศไทย มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รายได้ประชากรขยายตัว และประชาชนมีการบริโภคมากขึ้น
            ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำหรับตลาดหุ้นไทย โมเบียส กล่าวว่าอาจขึ้นอยู่กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เศรษฐกิจจีนไม่ดี หรือ  ลาว กัมพูชา  และเวียดนาม อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจไม่เติบโตไปตามแนวโน้มการค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เชื่อว่าความเสี่ยงดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น และเศรษฐกิจประเทศในกลุ่มอาเซียนน่าจะเติบโตได้อีก
            สำหรับมุมมองต่อประเทศพม่า ในสายตาของโมเบียส เขาว่าในอีก 2-3 ปีหน้า ถือเป็นประเทศที่น่าสนใจเข้าไปลงทุน 3 ภาคธุรกิจ คือ พลังงาน การผลิตระดับท้องถิ่นและการบริโภค เนื่องจากพม่าอยู่ติดกับจีนและอินเดีย  อีกทั้งพม่ามีทรัพยากรจำนวนมากที่จะทำให้พัฒนาได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่พม่าต้องพัฒนาตลาดเงินกับค่าเงิน และพัฒนาระบบธนาคารกับสาธารณูปโภคให้ดีก่อน
           วกมาที่ตลาดเกิดใหม่ โมเบียส เชื่อว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพิจารณาจากสถิติมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ในปี 2536 อยู่ที่ประมาณ 15% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ปี 2554 มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นใหม่เพิ่มเป็น 34% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นทั่วโลก และเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จาก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2538 เป็นกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2554             โดยโมเบียสเชื่อว่านักลงทุนสถาบันอย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญมีแนวโน้มจะเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหวังผลตอบแทนที่ดีและสูงกว่าเดิม  พร้อมยกตัวอย่างการเติบโตของกองทุนเทมเพิลตันตลาดเกิดใหม่ ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2530 เริ่มต้นจากสินทรัพย์ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขณะที่ปัจจุบันขนาดสินทรัพย์โตกว่า 500 เท่า มาอยู่ที่ 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  สะท้อนถึงตลาดเกิดใหม่มีขนาดเพิ่มขึ้นมาก และแนวโน้มยังเติบโตได้อีก เพราะนักลงทุนยังเข้ามาลงทุนน้อยเกินไป
          "จากปัจจัยพื้นฐานต่างๆ นำมาพิจารณาว่าในระยะ 12 เดือนข้างหน้า สัดส่วนราคาเทียบกำไร หรือพีอี เรโช ของหุ้นตลาดเกิดใหม่โดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้  อยู่ที่ 10 เท่าเทียบกับ 28 เท่าในปี 2531 ถือว่าไม่แพงและพี/อี หุ้นในตลาดลาตินอเมริกาเคยสูงสุด 16 เท่าในปี 2537 นั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้อยู่ที่ 11 เท่า ถือว่าราคาไม่แพง โดยอยู่ในระดับกลาง"
            สำหรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นเกิดใหม่ โมเบียส มองว่าเสี่ยงน้อยกว่าตลาดพัฒนาแล้ว เพราะสัดส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ถือว่ายังต่ำมาก และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศในตลาดเกิดใหม่ก็พึ่งพาตลาดส่งออกไปสหรัฐฯและยุโรปน้อยลง 
         นอกจากนี้การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ในตลาดโลกซึ่งเคยเป็นต้นตอวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐฯกำลังเติบโตเร็ว ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาเช่นกัน อีกทั้งปริมาณเงินในระบบจากการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว หรือความเป็นไปได้ในการเกิดคิวอี 3 ของสหรัฐฯ ทำให้ปัญหาเงินเฟ้ออาจเกิดขึ้นตามมา ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงเช่นกัน
        ภายใต้ความเสี่ยงที่กล่าวข้างต้น โมเบียส แนะนำให้สร้างเกราะป้องกันด้วยการกระจายการลงทุนในหุ้น ทองคำ และกองทุนรวม  โดยกูรูตลาดเกิดใหม่ แนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้นลาตินอเมริกาและตลาดแนวหน้า




http://bit.ly/KjB0bI                  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น