วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

อ่านใจ!'โมเบียส'แบบเต็มๆกับเหตุผลชูหุ้น'แบงก์-พลังงาน'




'โมเบียส'ชูหุ้นแบงก์-พลังงานเด่น ยกตลาดเกิดใหม่-ไทยน่าลงทุนที่สุด 3 ปีพม่าน่าสนใจเข้าไปลงทุน 3 ภาค'พลังงาน- การผลิตท้องถิ่น-การบริโภค'

นายมาร์ค โมเบียส ประธานบริหารเทมเพิลตัน อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ ให้ข้อมูลภายหลังการนำเสนอเรื่อง ผจญภัยการลงทุนไปกับ มาร์ค โมเบียส ในตลาดเกิดใหม่ซึ่งจัดโดย บลจ.กรุงศรี เมื่อวานนี้ (5 เม.ย.) ว่า แนวโน้มตลาดหุ้นเกิดใหม่ในระยะ 5-10 ปีที่ผ่านมาให้ผลประกอบการโดดเด่นค่อนข้างดีกว่าตลาดสหรัฐและตลาดหุ้นทั่วโลก และช่วง 5 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2550 จนถึงต้นปี 2555 พบว่าตลาดหุ้นละตินอเมริกาให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่อื่นโดยรวม

 ทั้งนี้ นายโมเบียส เจาะจงว่า ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่กว่า 40 ประเทศนั้นเขามองตลาดแนวหน้า (frontier markets) ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออกและเอเชียหลายแห่งโดดเด่นดึงดูดใจมากที่สุด ประกอบด้วย ไนจีเรีย, เวียดนาม, คาซัคสถาน, ยูเครน, เคนยา, กานา, ซาอุดีอาระเบีย, กาตาร์, อียิปต์และโรมาเนีย

 สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้นเขายังให้น้ำหนักลงทุนอย่างมากและเขาขอเป็นนักลงทุนระยะยาว ซึ่งแม้ต้องคอยตอบคำถามลูกค้าทั้งในยุโรปและสหรัฐเกี่ยวกับปัญหามากมายเกิดขึ้นในไทย และมีแต่ข่าวร้ายมากมายออกมาให้เห็น แต่กองทุนของเขายังลงทุนต่อไปหลังจากลงทุนในไทยมานานกว่า 20 ปีแล้ว
 นายโมเบียส อธิบายว่า คนไทยทำงานหนักสามารถผ่านพ้นช่วงแห่งความยากลำบากมาได้ตลอด บริษัทไทยทำธุรกิจได้ดีมาก ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด ไม่ว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมหนัก การเมืองไม่แน่นอน แต่ไทยยังไปได้ดีเขาจึงยังลงทุนระยะยาวในไทยต่อไป และแม้ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นไปมากแล้ว แต่กองทุนของเขายังมองตลาดหุ้นไทยแง่ดี และคาดว่าปีนี้ ผลตอบแทนที่จะได้จากหุ้นจะมากกว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินฝาก 2 เท่า

 “เราคึกคักกับการลงทุนในหุ้นไทย โดยกลุ่มแบงก์กับพลังงานเป็นหุ้น 2 กลุ่มน่าสนใจ พิจารณาจากไทย มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รายได้ประชากรขยายตัว และผู้คนบริโภคมากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยง สำหรับตลาดหุ้นไทย อาจขึ้นอยู่กับเพื่อนบ้าน เช่นเศรษฐกิจจีนไม่ดี หรือ กัมพูชา ลาว และ เวียดนาม อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงไม่เติบโตไปตามแนวโน้มการค้าเพิ่มขึ้น แต่ผมเชื่อว่าความเสี่ยงดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น และอาเซียนน่าจะโตได้อีก

 ต่อข้อถามที่ว่า พม่าเป็นหนึ่งในตลาดแนวหน้าหรือไม่ นายโมเบียส กล่าวว่าพม่าเป็นตลาดแนวหน้าได้แต่เร็วไปที่จะพูดถึง อย่างไรก็ตาม เขามองอีก 2-3 ปีหน้าพม่าน่าสนใจเข้าไปลงทุน 3 ภาคธุรกิจ คือ พลังงาน การผลิตระดับท้องถิ่นและการบริโภค เนื่องจากพม่าอยู่ติดกับจีนและอินเดีย มีทรัพยากรอยู่มาก ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยพม่าไปได้ดีกว่าเพื่อนบ้าน แต่พม่าต้องพัฒนาตลาดเงินกับค่าเงิน และพัฒนาระบบธนาคารกับสาธารณูปโภคให้ดีก่อน

 นายโมเบียส เชื่อด้วยว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ พิจารณาจากสถิติมูลค่าตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ในปี 2536 อยู่ที่ประมาณ 15% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นทั่วโลก แต่มาในปี 2554 มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นใหม่เพิ่มเป็น 34% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นทั่วโลก และเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จาก 1 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2538 เป็นกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2554
 “เราเชื่อนักลงทุนสถาบันอย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญมีแนวโน้มจะเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหวังผลตอบแทนที่ดีและสูงกว่าเดิม และขนาดการเติบโตของกองทุนเทมเพิลตันตลาดเกิดใหม่ ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2530เริ่มต้นจากสินทรัพย์100ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้ขนาดสินทรัพย์โตกว่า 500เท่า มาอยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ สะท้อนการลงทุนตลาดเกิดใหม่มีไซส์เพิ่มขึ้นแต่แนวโน้มยังโตได้อีก เพราะนักลงทุนยังเข้ามาลงทุนตลาดนี้น้อยเกินไป

 นายโมเบียส กล่าวสรุปไว้ก่อนว่า จากปัจจัยพื้นฐานต่างๆ นำมาพิจารณาว่าในระยะ 12 เดือนข้างหน้า สัดส่วนราคาเทียบกำไร หรือ ค่าพีอีของหุ้นตลาดเกิดใหม่โดยรวมในเดือนก.พ. ปีนี้อยู่ที่ 10 เท่าเทียบกับ 28 เท่าในปี 2531 ถือว่าไม่แพงและค่าพีอีหุ้นในตลาดละตินอเมริกาเคยสูงสุด 16 เท่าในปี 2537นั้น ในเดือนก.พ. มาอยู่ที่ 11 เท่า ถือว่าอยู่ระดับกลางๆ ไม่แพง

 โดยในการให้ข้อมูลช่วงแรก นายโมเบียสได้อธิบายถึงปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ใช้สนับสนุนการลงทุนในตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะตลาดแนวหน้าและละตินอเมริกาว่า พิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่คาดว่าอยู่ที่ 5.4%ปีนี้ ซึ่งจะมากกว่าตลาดพัฒนาแล้วคาดว่าจะโตเพียง 0.8% และหากแยกดูรายภูมิภาคเอเชียโตมากสุด 6.7% ตามด้วยแอฟริกา 5.5% ละตินอเมริกา 3.6% และตลาดเกิดใหม่ยุโรป 2.6% ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่าด้วยอัตราเติบโตปานกลางทำให้แอฟริกากับละตินอเมริกาน่าสนใจกว่า

 “ผมเชื่อว่าตลาดมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง หมายถึงบริษัทเอกชนเผชิญการแข่งขันสูงการทำกำไรก็ได้น้อยลงในเวลาอันรวดเร็ว  ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจขยายตัวน้อยกว่าในแอฟริกากับละตินอเมริกาซึ่งขยายตัวได้ปานกลาง ธุรกิจบางอย่างยังผูกขาดมีการแข่งขันน้อย บริษัทน่าจะทำกำไรจากการลงทุนได้มากขึ้น
 ระหว่างให้ข้อมูลที่ว่าตลาดเกิดใหม่น่าสนใจกว่าตลาดพัฒนาแล้วอย่างไรนั้น นายโมเบียสระบุถึง

ปัจจัยพื้นฐาน เช่น เงินทุนสำรองของประเทศตลาดเกิดใหม่รวมกันราว 7 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าประเทศพัฒนาแล้วมีเพียง 3.8 ล้านล้านดอลลาร์  สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีชาติพัฒนาแล้วโตต่อเนื่องประมาณ 100% ต่อจีดีพี ตรงข้ามกับตลาดเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่องปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 30% ของจีดีพี เมื่อมองเงินเฟ้อกับดอกเบี้ยช่วงปี 2535-2554 พบเงินเฟ้อตลาดเกิดใหม่ลดลงต่อเนื่อง และตั้งแต่ปี 2550 จนถึงต้นปี 2555 ดอกเบี้ยยังอยู่ระดับต่ำ

 นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของประชากรเพิ่มขึ้นในตลาดเกิดใหม่ปัจจุบันอยู่ที่ 5.7 พันล้านคน ตรงข้ามตลาดพัฒนาแล้วยังคงอยู่ที่ระดับ 1.1 พันล้านคน รายได้ต่อหัวของประชากรตลาดเกิดใหม่ยังไม่อิ่มตัวหรือน้อยกว่าตลาดพัฒนาแล้ว 10 เท่า ขณะที่จีดีพีเทียบการเติบโตของรายได้ตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้น 87% ในช่วงเดียวกัน แต่ตลาดพัฒนาแล้วอยู่ที่ 13%

 “เรามองดูการบริโภคเครื่องซักผ้า คอมพิวเตอร์ และจักรยานยนต์หรือรถยนต์หรือตู้เย็นในจีนยังต่ำมีโอกาสโตได้อีก ยอดขายรถในจีน อินโดนีเซียและอินเดียช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง อัตราการใช้รถในจีนอินเดีย บราซิล และเม็กซิโก ยังน้อยเทียบกับสหรัฐ ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในบราซิล เม็กซิโก ชิลีและอาร์เจนตินา มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

 เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงนายโมเบียส คิดว่าตลาดเกิดใหม่เสี่ยงน้อยกว่า ตลาดพัฒนาแล้ว เพราะสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีต่ำกว่ามาก และการพึ่งพาตลาดส่งออกไปสหรัฐกับยุโรปก็น้อยลงช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ในตลาดโลกซึ่งเคยเป็นต้นตอวิกฤติซับไพร์มกำลังเติบโตเร็วถือเป็นความเสี่ยงเช่นกัน

 นอกจากนี้อุปทานเงินในระบบจากการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว หรือความเป็นไปได้เกิดคิวอี3 ทำให้ปัญหาเงินเฟ้ออาจเกิดขึ้นตามมา ก็ก่อเกิดความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้นนายโมเบียสจึงแนะนำให้ป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ด้วยการกระจายการลงทุนในทองคำ กองทุนรวมและหุ้นโดยเฉพาะหุ้นตลาดเกิดใหม่อย่างละตินอเมริกาและตลาดแนวหน้า

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  http://bit.ly/Hqt4Z8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น