วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

ฟองสบู่ทะเลใต้


ในช่วงที่หุ้นปรับตัวขึ้นเป็น "กระทิง" นั้น หลายคนก็กลัวว่าภาวะตลาดหุ้นจะกลายเป็น ฟองสบู่นั่นก็คือ หุ้นมีราคาแพงเกินพื้นฐานไปมาก
ในช่วงที่หุ้นปรับตัวขึ้นเป็น "กระทิง" นั้น หลายคนก็กลัวว่าภาวะตลาดหุ้นจะกลายเป็น ฟองสบู่นั่นก็คือ หุ้นมีราคาแพงเกินพื้นฐานไปมาก
ราคาหุ้นขึ้นไปเพราะผลจากแรง  “เก็งกำไร”  และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง  ในไม่ช้าราคาหุ้นก็จะปรับตัวลงมาอย่างแรง   เหมือนกับฟองสบู่ที่แตก   ผมคงไม่บอกว่าภาวะปัจจุบันของตลาดหุ้นไทยเป็นฟองสบู่หรือไม่   แต่อยากจะเล่าประวัติ”  หรือที่มาของภาวะฟองสบู่ที่สำคัญของโลกเหตุการณ์หนึ่งนั่นก็คือ  “South Sea Bubble”  หรืออาจจะแปลเป็นไทยว่า  “ฟองสบู่ทะเลใต้
 

ฟองสบู่ทะเลใต้นั้น  เกิดขึ้นในช่วงปี 1720 หรือประมาณ 300 ปีมาแล้วในอังกฤษ  นี่คือเหตุการณ์ที่ราคาหุ้นของบริษัท South Sea ของอังกฤษถูก  “ปั่นขึ้นไปสูงมาก  ปริมาณการซื้อขายสูงมาก  ขนาดหรือมูลค่าหุ้นในตลาดใหญ่มาก  และคนที่เข้าไปซื้อขายหุ้นมีจำนวนมหาศาลทั้งที่เป็นชาวบ้านและคนชั้นสูงที่มีชื่อเสียงของประเทศ  ความคึกคักของการซื้อขายหุ้น South Sea มีส่วนทำให้ตลาดหุ้นในอังกฤษและทั่วโลกปรับตัวขึ้นและกลายเป็นฟองสบู่ไปด้วย  และแน่นอน  เมื่อ  “ฟองสบู่แตกความเสียหายก็มหาศาลเช่นเดียวกัน   มาดูกันว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร
 

บริษัท South Sea Company ที่ต่อไปนี้ผมจะใช้ชื่อย่อว่า SSC ก่อตั้งขึ้นในปี 1711 โดยผู้ก่อตั้งนั้นมีหลายคน ซึ่งรวมถึง รมว.คลังของอังกฤษในช่วงนั้นด้วย บริษัทถูกตั้งขึ้นเพื่อที่จะช่วยหาเงินมาอุดหนุนหรือหาเงินมาแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาก อันเป็นผลจากการที่อังกฤษทำสงครามกับสเปน โดยหลักการก็คือ บริษัทจะซื้อพันธบัตรและหนี้สินระยะสั้นของรัฐบาลมาแปลงเป็นระยะยาวรวมถึงการลดดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะต้องจ่ายด้วย ในขณะเดียวกัน  รัฐบาลก็ตอบแทนโดยการอนุมัติให้บริษัทผูกขาดการค้าขายกับอาณานิคมในอเมริกาใต้ที่อยู่ที่ทะเลใต้ของสเปน

ดีลแรกที่เกิดขึ้นในปี 1713 ก็คือ  รัฐบาลและบริษัทได้ชักชวนให้นักลงทุนที่ถือหนี้ระยะสั้นของรัฐบาล 10 ล้านปอนด์ให้แปลงหนี้เป็นหุ้นออกใหม่ของ SSC  โดยที่รัฐบาลจะตอบแทนบริษัทโดยการออกพันธบัตรที่ไม่มีกำหนดอายุใช้เงินต้นคืน 10 ล้านปอนด์เช่นกัน  โดยรัฐบาลจะจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยให้บริษัททุกปีๆ ประมาณ 5.8%   นี่ทำให้  SSC มีรายได้และกำไรแน่นอนปีละ 580,000 ปอนด์ ที่จะทำให้หุ้นของบริษัทเป็นที่น่าสนใจ  ในขณะที่รัฐบาลเองก็หวังว่าจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอเมริกาใต้มาใช้จ่ายเป็นค่าดอกเบี้ยได้  สรุปแล้วดีลนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ทั้งคู่  อย่างไรก็ตาม  ข้อเท็จจริงหลังจากนั้นก็คือ  บริษัทได้สิทธิที่จะนำเรือไปค้าขายได้เพียงปีละหนึ่งลำ  และนำทาสไปขายให้กับอาณานิคมได้ ซึ่งไม่คุ้มค่าเลยสำหรับบริษัท 
 

ในปี 1717 บริษัทได้รับแปลงหนี้ของรัฐบาลเพิ่มอีก 2 ล้านปอนด์ เงินจำนวนนี้คิดเป็นประมาณ 3% ของงบประมาณแผ่นดินของอังกฤษในปีนั้น และก็เช่นเคย บริษัทมีรายได้และกำไรที่แน่นอนเพิ่มขึ้นในขณะที่รัฐบาลก็สามารถลดดอกเบี้ยจ่ายลง

ในปี 1719  บริษัทได้เสนอดีลซึ่งน่าจะเป็น ดีลแห่งศตวรรษนั่นก็คือ บริษัทจะซื้อหนี้จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของหนี้ทั้งหมดของรัฐบาลอังกฤษหรือ 31 ล้านปอนด์ โดยการออกหุ้นใหม่ของบริษัทมาแลก และบริษัทสัญญาว่าจะลดดอกเบี้ยของพันธบัตรให้เหลือ 5% ต่อปี จนถึงปี 1727 และ 4% ต่อปีหลังจากนั้น เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้รัฐบาล ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับพันธบัตร  และที่สำคัญทำให้หุ้นของ SSC มีปริมาณมหาศาลซื้อง่ายขายคล่อง  สรุปแล้วก็คือ ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ประเด็นสำคัญก็คือ ราคาแปลงสภาพของหุ้นซึ่งถึงแม้ว่าบริษัทจะเป็นคนกำหนดแต่ก็ต้องคำนึงว่ามันจะต้องเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาหุ้นของ SSC ในขณะนั้นด้วย ดังนั้น สิ่งที่บริษัทและอาจจะรวมถึงผู้นำของรัฐบาลทำก็คือ การพยายาม ปั่นราคาหุ้น เพื่อที่จะให้คนถือพันธบัตรและหนี้ของรัฐบาลนำตราสารเหล่านั้นมาแลกเป็นหุ้น SSC ในราคาที่สูงและคาดว่าจะสูงต่อไป


บริษัทเริ่ม  “ปั่นราคาหุ้นโดยการปล่อยข่าวลือที่ ดีสุดๆเกี่ยวกับศักยภาพของมูลค่าการค้าขายกับ  “โลกใหม่”  ซึ่งก่อให้เกิดการเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง”  ในหุ้นของบริษัท  ราคาหุ้น SSC พุ่งขึ้นจาก 128 ปอนด์ต่อหุ้นเมื่อบริษัทเสนอโครงการซื้อหนี้ของรัฐบาลในเดือนมกราคมปี 1720 เป็น  175 ปอนด์ในเดือนกุมภาพันธ์  330 ปอนด์ในเดือนมีนาคม  และหลังจากที่โครงการได้รับการอนุมัติ หุ้น SSC ก็วิ่งขึ้นเป็น 550 ปอนด์เมื่อสิ้นพฤษภาคม  สิ่งที่อาจทำให้หุ้นซื้อขายที่ PE สูงมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ  วงเงินกู้ 70 ล้านปอนด์เพื่อขยายงานที่บริษัทจะได้รับโดยการสนับสนุนสำคัญจากรัฐสภาและพระมหากษัตริย์


นอกจากนั้น  บริษัทได้ขายหุ้นให้กับนักการเมืองในราคาตลาด แต่แทนที่จะจ่ายเป็นเงินสด  พวกเขากลับรับหุ้นไว้เฉยๆ โดยมีสิทธิที่จะขายหุ้นคืนให้กับบริษัทเมื่อเขาต้องการ  และจะรับเฉพาะ  “กำไรที่จะเกิดขึ้นเมื่อราคาหุ้นขึ้นไป วิธีนี้ได้ใจผู้นำในรัฐบาล กิ๊กของพระราชา และอื่นๆ ซึ่งทำให้คนเหล่านี้ช่วยกัน ดันราคาหุ้น  ในอีกด้านหนึ่ง  การเปิดเผยชื่อคนดังเป็นผู้ถือหุ้นก็ช่วยให้ชื่อเสียงบริษัทดีขึ้นและช่วยดึงดูดนักลงทุนอื่นๆ มาซื้อหุ้นบริษัท

ในช่วงที่ผู้คนกำลังบ้าคลั่งเกี่ยวกับหุ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 1720 พระราชบัญญัติ ฟองสบู่หรือ “Bubble Act” ที่บังคับว่าบริษัทใหม่ ๆ จะก่อตั้งได้จะต้องตราเป็น พ.ร.บ. ก็ถูกตราออกใช้  นี่ยิ่งทำให้บริษัทได้ประโยชน์มากขึ้นและส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเป็น 890 ปอนด์ในช่วงต้นมิถุนายน นี่ทำให้นักลงทุนเริ่มเทขายหุ้น  อย่างไรก็ตาม  กรรมการบริษัท ต่างก็ออกมาทยอยเก็บเพื่อพยุงราคาซึ่งทำให้ราคาหุ้นยืนอยู่ได้ที่ราว 750 ปอนด์

การที่หุ้นปรับตัวขึ้นมาจาก 100 กลายเป็นเกือบ 1,000 ปอนด์ ในช่วงเวลาไม่ถึงปี ได้ทำให้คนทุกหมู่เหล่าตั้งแต่ขุนนางจนถึงชาวนาคลั่งไคล้การลงทุนไม่เฉพาะในหุ้น SSC  แต่ในตลาดหุ้นโดยทั่วไปด้วย  นอกจากหุ้นของบริษัทเดิม ๆ ที่มีอยู่   หุ้นออกใหม่หรือ IPO ก็มีจำนวนมาก  บางบริษัทแทบจะไม่มีธุรกิจอะไรเลยแต่โฆษณาว่า  “ทำธุรกิจที่มีความได้เปรียบมหาศาล


ราคาหุ้น SSC ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 1,000 ปอนด์ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 1720  แต่แรงขายมหาศาลทำให้ราคาตกกลับลงมาที่ 100 ปอนด์ก่อนสิ้นปีซึ่งก่อให้เกิดการล้มละลายไปทั่วสำหรับคนที่กู้เงินมาเล่นหุ้น  การบังคับขายได้ทำให้หุ้นตกลงมาอย่างต่อเนื่อง  สภาพคล่องที่หดหายไปดูเหมือนว่าจะกระจายไปทั่วทำให้ ฟองสบู่ที่เกิดทั้งในอัมสเตอร์ดัมและปารีส  “แตก”  ไปด้วย   ความล้มเหลวของบริษัทส่งผลต่อไปถึงภาคธนาคารที่ต้องรับภาระหนี้เสียจากการปล่อยกู้ซื้อหุ้น การสอบสวนของทางการในปี 1721 พบว่ามีการฉ้อฉลมากมายทั้งในระดับกรรมการบริษัทและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  หลายคนต้องติดคุก  วิกฤติครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของพระเจ้าจอร์จที่หนึ่งและพรรควิกที่เป็นรัฐบาลในขณะนั้น  และทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องย่อ ๆ  ของฟองสบู่ที่เกิดจากความบ้าคลั่งของนักลงทุนที่แม้แต่เซอร์ไอแซคนิวตัน  นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ยังต้องขาดทุนอย่างหนักพร้อม ๆ  กับคำกล่าวอมตะที่ว่า  “ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงดาว  แต่ไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของคน


http://bit.ly/HqAvj6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น